ชัชชาติ บรรยายพิเศษแก่นักบริหารระดับสูง ย้ำหลักการทำงาน ทุกคนช่วยกันให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บรรยายพิเศษแก่นักบริหารระดับสูง พร้อมเน้นย้ำ ทุกคนต้องช่วยกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

 

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Prepare for the Future” ให้แก่นักบริหารระดับสูง ตามโครงการฝึกอบรมการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึง Strategy (ยุทธศาสตร์) ซึ่งประกอบด้วย 1. Diagnosis (การวิเคราะห์) 2. Guide policies (แนวทางนโยบาย) และ 3. Coherent action plans (แผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกัน) โดยยุทธศาสตร์ที่แท้จริงจะต้องมี action plans ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงแค่สโลแกน พร้อมได้ยกตัวอย่าง 216+ นโยบายของกรุงเทพมหานครว่า คือ action plans ที่ตอบยุทธศาสตร์รวม จากนั้นได้พูดถึง 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ คือ CEO และ Manager โดย CEO คือผู้ที่วางยุทธศาสตร์ รู้ว่าจะต้องทำอะไรตอนที่ไม่มีอะไรให้ทำ แต่เมื่อรู้ว่าจะต้องทำอะไรแล้ว จะต้องมี Manager ซึ่งเป็นผู้ที่มีกลยุทธ์ รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อมีสิ่งที่ต้องทำ นำแผนยุทธศาสตร์ไปทำให้เกิดผลสำเร็จ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีตัวเลขที่น่าสนใจ ได้แก่ 1 และ 98 โดยกรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 1 ของเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลกหลายปีซ้อน แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก (จากดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ หรือ The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU) จึงเป็นแนวคิดในการทำนโยบายโดยมีเป้าหมายให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งการกำหนดนโยบายสมัยก่อนเป็นอนาล็อกพิมพ์นโยบายลงกระดาษ อาจมีเพียง 4-5 นโยบาย ตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง แต่จะเห็นได้ว่าปัจจุบันดิจิทัลแพลตฟอร์มทำให้เราสามารถมีกี่นโยบายก็ได้ สามารถแตกนโยบายออกมาโดยละเอียด และตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มได้มากขึ้น เช่น นโยบายแจกผ้าอนามัยในโรงเรียน นโยบายกลุ่มหลากหลายทางเพศ ซึ่งหากมองในแง่ธุรกิจก็เหมือนกัน ต่อไปจะต้องมีผลิตภัณฑ์ (Product) ที่ตอบสนอง Niche Market ด้วย

ต่อมาได้เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ เหมือนร่างกายคน มีเส้นเลือดใหญ่ กับเส้นเลือดฝอย โดยเส้นเลือดใหญ่ หมายถึง โครงการ (Project) ส่วนเส้นเลือดฝอย หมายถึง เรื่องทั่ว ๆ ไป แม้เส้นเลือดใหญ่เราจะแข็งแกร่ง แต่เส้นเลือดฝอยก็สำคัญไม่แพ้กัน ฉะนั้นหัวใจของกรุงเทพฯ คือการ Balance (สมดุล) กันระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในทุกระบบ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำท่วม ซึ่งหลายคนจะนึกถึงอุโมงค์ยักษ์ว่าจะช่วยในการระบายได้น้ำได้รวดเร็ว แต่แท้จริงแล้วหากท่อระบายน้ำตัน เส้นเลือดฝอยตีบ น้ำจะไปสู่อุโมงค์ยักษ์ไม่ได้ นี่เหตุผลว่าทำไมต้องมีการลอกท่อ ทำไมต้องดูแลและให้ความสำคัญตั้งแต่เส้นเลือดฝอย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า หน้าที่กรุงเทพมหานคร มี 3 ข้อ คือ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ปรับการให้บริการต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็ว พัฒนาระบบติดตามการขออนุญาต ปรับการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบ one stop service 2. การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเมืองคือตลาดงาน (Job Market) และอนาคตเมืองแข่งกันที่เมืองไหนดึงดูดคนเก่งได้ เพราะคนเก่งนั้นมีทางเลือก และคนเก่งจะอยู่ในเมืองที่คุณภาพชีวิตดี มีงานดี ๆ ถ้าไม่มีงาน ไม่มีคนเก่ง เมืองก็จะอยู่ไม่ได้ และ 3. เกลี่ยความไม่เท่าเทียม ให้มีความเท่าเทียมกัน โดยนำแพลตฟอร์มเข้ามาใช้

ยกตัวอย่างเช่น การใช้ Traffy Fondue รับฟังปัญหาจากประชาชน ซึ่งเป็นการลดโอกาสในการคอร์รัปชัน ตัดระบบท่อ pipe line ป้องกันระบบเส้นสายที่ใครสนิทกับเจ้าหน้าที่จะได้รับการแก้ไขก่อน เพราะบนแพลตฟอร์มทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับตำรวจ โดยทุกสถานีตำรวจได้เข้าสู่ระบบ Traffy Fondue แล้ว และกว่า 8,000 เรื่องร้องเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ กทม.ได้ดำเนินการส่งต่อเรื่องเรียบร้อยแล้ว จึงนับได้ว่า Traffy Fondue ทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ (seamless) ทั้งการประสานงานภายในและภายนอก

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ อีก อาทิ เรื่อง open data ซึ่งกทม.มุ่งให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกคนมาตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ได้ เรื่อง ผู้ว่าฯ สัญจร ซึ่งทำให้กทม.ได้ทราบปัญหาจากประชาชนอย่างแท้จริง เรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ การพัฒนาด้านการเดินทาง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงร่วมปลูกต้นไม้กว่า 1.6 ล้านต้น การสนับสนุนพื้นที่สาธารณะ ดนตรีในสวน หนังกลางแปลง เป็นต้น

“หลักในการทำงานของกรุงเทพมหานครคือการหาความร่วมมือ เป็นผู้สนับสนุนในด้านต่าง ๆ หากใครมาพูดว่า ‘ฝากกทม.ด้วยนะ’ ก็จะไม่รับฝาก เพราะทุกคนต้องร่วมมือกัน ทั้งหมดต้องเดินไปด้วยกัน ต้องช่วยกันเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย