‘หอการค้า’ หนุนขึ้นค่าแรง 5-8% แต่ค้านขึ้นอัตราเดียวทั่วประเทศ

‘หอการค้า’ หนุนขึ้นค่าแรง 5-8% ค้านขึ้นอัตราเดียวทั่วประเทศ ชี้เศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่กระทรวงแรงงานจะปรับอัตราค่าแรงงานเพิ่ม 5-8% โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงาน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ขณะเดียวกันถ้าไม่ปรับค่าแรงและสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อคนที่มีรายได้ต่ำ หรือน้อยได้รับผลกระทบมาก อีกทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันให้รัฐออกมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งเป็นรูปทรงที่ดีที่ทำมาตรการในช่วงเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น และมาตรการช่วยดูแลส่วนที่เป็นแรงงาน หากไม่เข้าไปดูแลส่วนนี้จะเกิดปัญหาต่อสังคม

นายสนั่นกล่าวว่า การปรับแรงงานในแต่ละพื้นที่จังหวัดที่เรียกว่าไตรภาคีที่จะพิจารณาการปรับอัตราค่าแรงงาน โดยมีองค์ประกอบการพิจารณาร่วม อาทิ อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับใด สมรรถภาพของแรงงานเป็นอย่างไรที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้ อัตราการค่าแรงงานปรับ 5-8% ประเมินว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม แต่ต้องพิจารณาการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับไตรภาคีจะพิจารณา

“สิ่งที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่ต้องการเห็นการปรับค่าแรงงานเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศยังเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วยเด็ดขาด” นายสนั่นกล่าว

นายสนั่นกล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศจีน ไต้หวัน และสหรัฐ จะมีผลกระทบเชิงการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะไต้หวันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่จีนทำมาตรการต่างๆ เช่น ไม่นำสินค้าจากไต้หวันเข้าประเทศ การเก็บภาษีต่างๆ เรื่องซัพพลายเชน เช่น การนำเข้าทรายจากจีนเข้าไต้หวัน เพื่อใช้ธุรกิจก่อสร้างชะงักลง อีกทั้งด้านอาหาร เทคโนโลยี และเรื่องการขาดแคลนชิปที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่มีความเสียหายเกิดขึ้นหลังต้องลดการส่งออกไปจีน

นายสนั่นกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งจีนได้ตอบโต้ด้วยการยกเลิกความร่วมมือกับสหรัฐ เช่น ยกเลิกความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน รวมถึงยกเลิกการนำสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับอุปโภค-บริโภคที่จะส่งไปสหรัฐ อาจทำให้สหรัฐเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้สูงอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยที่มีจุดยืนชัดเจนว่าเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่อยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และอยากเห็นความสงบสุขทุกภาคส่วน

นายสนั่นกล่าวด้วยว่า หากมองเรื่องเศรษฐกิจคาดว่าไทยอาจได้โอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่ซื้อสินค้าจากไทยสูง จากนี้ไปอาจมีการซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนอาจเข้ามาอีก ซึ่งเวลานี้ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จีนมาลงทุนในไทยอยู่ในอันดับ 6 ยังน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจากจีนจะเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น

“ขณะที่ไต้หวันต้องยึดไทยเป็นเป็นแหล่งส่งสินค้า เมื่อการผลิตชิปต่างๆ หากไต้หวันลดการส่งออกไปจีน ไทยอาจเป็นประเทศเป้าหมาย เพราะไทยต้องการชิปในใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ จากสถานการณ์ที่ผ่านมาตัวเลขการผลิตรถยนต์ไม่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากขาดแคลนชิป มองว่าจากนี้ไปจะเป็นโอกาสที่ดี อีกทั้งไทยนำเข้าสินค้าจากไต้หวัน เช่น อาหาร ซัพพลายเชนด้านวัตถุดิบ ชิปต่างๆ ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก จากปัญหาที่เกิดขึ้นไทยอาจได้รับอานิสงส์ อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าไทยไม่ต้องการเห็นสิ่งที่มีความขัดแย้งลักษณะนี้ในแถบตะวันออก หรือเอเซียด้วยกัน

“ได้ประเมินเศรษฐกิจที่เกิดภาวะปัญหาซ้อนกันจนเกิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่กระทบโดยตรงและแรงเกินไปสำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกันเรื่องการท่องเที่ยวที่ประเทศจีน และประเทศต่างๆ มีความซับซ้อนเรื่องการห้ามบินข้ามน่านฟ้า ซึ่งอาจมีผลกระทบบ้าง ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาไทยสูง และหาซื้อตั๋วเครื่องบินไม่ได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่พอ และเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในภาวะตึงเครียดก็ต้องเฝ้ามองว่าจะมีผลกระทบอย่างไรตามมา แต่คาดคาดว่าจะไม่กระทบต่อไทยมากนัก เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 จะดีขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/2555 และจีดีพีจะเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 3% เป็นภาพเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก” นายสนั่นกล่าว