“เศรษฐา” ระบุ อย่าแค่ควักเงินซื้อเครื่องบินแล้วจบ แนะทีมนายกฯ เจรจาการค้าเพิ่มด้วย

“เศรษฐา” ระบุ อย่าแค่ควักเงินซื้อเครื่องบินแล้วจบ แนะทีมนายกฯ ต่อรองเจรจาการค้าเพิ่มด้วย

 

วันที่ 5 ส.ค.2565 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “ควักกระเป๋าแล้ว อย่าให้จบแค่ซื้อเครื่องบิน” โดยมีรายละเอียดว่า กรณีกรรมาธิการงบประมาณปี 2566 ลงมติเปิดไฟเขียวให้คืนงบกองทัพอากาศไปวางมัดจำซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เอ ล็อตแรก 2 ลำ กลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตีไข่ใส่สี ข่าวบางสายก็บอกว่าแม้จะผ่านการอนุมัติงบไปแล้ว แต่การที่ไทยเราจะบรรลุข้อตกลงการซื้อเครื่องล็อตนี้ทางสภาคองเกรสและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ต้องอนุมัติด้วย เนื่องจากความอ่อนไหวทางด้านการรั่วไหลของเทคโนโลยีไปสู่ปฏิปักษ์ของสหรัฐฯ ซึ่งหากมองในมุมของเค้าก็ไม่ผิดที่จะวิตก เพราะเราเองก็พยายามรักษาสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีนและสหรัฐฯ มาโดยตลอดและมีความใกล้ชิดกับทั้งสองขั้วไม่น้อยกว่ากัน

ถ้ามองในมุมประชาชนคนเสียภาษี ผมอยากเสนออย่างนี้ครับ ไหนๆ ก็ไหนๆ ถ้ารัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณให้ซื้อยุทโธปกรณ์มาเสริมทัพในช่วงที่เศรษฐกิจยังตกสะเก็ดและค้านสายตาประชาชนที่ยังโงหัวกันไม่ค่อยขึ้น ยังไงก็ควรจะฉกฉวยโอกาสตอนนี้ใส่ความเคี่ยวเข้าไปในบริบทของการเจรจาซื้อเครื่องบินรบสักหน่อยจะได้ไหม

สำหรับดีลซื้อเครื่องบินนี้ เนื่องจากเป็นการจัดซื้อระบบ จีทูจี หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่มีเอเยนต์ตัวกลางมาคั่น ดังนั้นน่าจะเป็นเรื่องง่ายที่ทีมงานและกุนซือของท่านนายกฯ ของเราที่รับผิดชอบเรื่องการค้าระหว่างประเทศหยิบเอาดีลนี้มาเป็นหัวเรื่องในการต่อรองเจรจาการค้าเรื่องอื่นๆ ระหว่างเรากับสหรัฐฯ ด้วย

ถ้าท่านนายกฯ ของเราเล่นเกมให้เป็น ซื้อจากสหรัฐฯ สองลำ บินไปเจรจาด้วยตัวเอง ทำให้กระทรวงกลาโหมและสภาคองเกรสสหรัฐฯ เค้าสบายใจว่าเราไม่เอาเทคโนโลยีของเค้าไปรั่วไหลกับอีกขั้วอำนาจอย่างจีนแน่นอน ตะล่อมเสร็จก็เจรจาเรื่องการค้าอื่นเพิ่มเติม หาทางขายของ ส่งออกเพิ่มสักหน่อย หาประโยชน์จากการณ์นี้ให้เงินเข้าประเทศเศรษฐกิจได้ประโยชน์หน่อยก็ไม่มีใครว่าหรอกครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมพูดไปหลายครั้งแล้วก็คืออยากให้ท่านนายกฯ ของเราเดินหน้าออกตัวเจรจาทางการค้า เศรษฐกิจด้วยตัวเอง อย่างที่ประธานาธิบดี โจโจ วิโคโด ของอินโดนีเซียทำในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างสิ่งที่เค้าทำแล้วบังเกิดผลก็เช่นการที่นาย โจโจ บินไปคุยกับอีลอน มัสค์ อยากดึงโรงงานผลิตรถไฟฟ้าเทสล่ามาที่อินโดฯ ผมว่าเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นอย่างโตโยต้าประกาศตกลงจะมาตั้งฐานการผลิตรถไฟฟ้าในอินโดฯ ตามที่ประกาศไปไม่กี่วันก่อน

มองให้กว้างไปอีก เชื่อว่าการซื้อยุทโธปกรณ์จะยังมีต่อเนื่อง งบมากงบน้อยแล้วแต่สถานการณ์ แนวทางการเจรจาบ๊ะต่างแบบที่ผมเสนอไปเป็นเรื่องที่ผมอยากให้รัฐบาลพิจารณาจริงๆ นะครับ ไม่จำเป็นต้องใช้มุกนี้กับสหรัฐฯ อย่างเดียวก็ได้ อาวุธมีขายหลายประเทศ ซื้อจากที่นั่นนิดที่นี่หน่อย โดยมีเป้าหมายแฝงเพื่อเจรจาการค้าเรื่องอื่นๆ ติดปลายนวมไม่ใช่เรื่องเสียหลาย อย่างน้อยการซื้อของที่คนหมู่มากไม่ได้ประโยชน์ก็ยังมีข้อดีให้ประชาชนเห็นบ้างน่ะ