“ธนาธร” พบ นศ.มธ. ปันประสบการณ์สมัยทำกิจกรรม ปลุกคนรุ่นใหม่ร่วมเปลี่ยนสังคม

ธนาธร บรรยายให้ความรู้นักศึกษาใหม่หลักสูตรอินเตอร์ธรรมศาสตร์ แชร์ประสบการณ์สมัยทำกิจกรรมเปิดโลกปัญหาโครงสร้างการเมือง พร้อมย้ำหากไม่สามารถทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน จะไม่มีทางแก้ปัญหารายประเด็นของประเทศไทยได้

 

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้แก่นักศึกษาใหม่ ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2565 ในวิชาเรียนพื้นฐานก่อนเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ (pre-college session)
.
โดยธนาธร ได้ใช้เวลาในการบรรยายกว่า 2 ชั่วโมง ในการตั้งคำถามชักชวนนักศึกษาให้ร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมแนะนำความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาจะต้องได้เรียนรู้ในการเรียนเศรษฐศาสตร์และการเมือง เช่น แนวคิดทางเศรษฐกิจพื้นฐาน การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในแบบขาดดุล เกินดุล สมดุล, ตัวเลขที่บ่งชี้เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ, หลักการของรัฐสมัยใหม่ที่รับประกันเสรีภาพของประชาชน และจำกัดอำนาจของรัฐ เป็นต้น

ในช่วงหนึ่งของการบรรยาย ธนาธรได้เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองในการทำกิจกรรมและเรียนที่ธรรมศาสตร์ พร้อมระบุว่าธรรมศาสตร์คือสถานที่ที่หล่อหลอมตัวเองขึ้นมาจนเป็นแบบทุกวันนี้ และจากการทำกิจกรรมที่นี่เองที่ตัวเองได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสังคมกับการเมืองมากขึ้น
.
โดยระบุว่า เมื่อแรกเริ่มทำกิจกรรมนั้น ตนจัดได้ว่าเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่ปฏิเสธการเมือง แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเริ่มเคลื่อนไหวกับประชาชนมากขึ้น จนได้ร่วมการชุมนุมบ่อยครั้ง เห็นการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งการชุมนุมกรณีเขื่อนปากมูลของสมัชชาคนจน รวมทั้งบทบาทของรัฐในการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวประชาชนเพียงเพื่อประโยชน์ของคนเมืองบางกลุ่ม ก็ได้เริ่มทำความเข้าใจใหม่ว่าทุกปัญหารายประเด็นของประเทศไทย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกิดจากโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นธรรม และต้องใช้อำนาจทางการเมืองในการแก้ปัญหา
.
ธนาธรระบุต่อไปว่าคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนกับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก เพราะปัญหาของประเทศไทยล้วนเป็นปัญหาที่มีต้นตอที่มาจากโครงสร้างที่สำคัญมาก นั่นคือปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน
.
ถ้าอำนาจสูงสุดไม่เป็นของประชาชน ปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยไม่มีวันแก้ไขได้ การมีรัฐธรรมนูญใหม่ทุก 4.5 ปีโดยเฉลี่ย แปลว่าสังคมไทยหาฉันทามติไม่ได้ ว่าอำนาจเป็นของใครกันแน่ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ทรัพยากรของชาติก็จะถูกนำไปใช้ในการหาความสวามิภักดิ์ทางการเมืองมากกว่าการนำมาพัฒนาประเทศ
.
“ปัญหาประเทศไทยเยอะก็จริง แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องการคือกฎกติกาที่เดินไปในเส้นทางประชาธิปไตย มีความเสถียร ทุกฝ่ายยอมรับ ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ปัญหารายประเด็นอื่นจะไม่สามารถแก้ได้เลย” ธนาธรกล่าว
.
ในช่วงสุดท้ายของการบรรยาย ธนาธรยังได้ขอให้ทุกคนตระหนักเสมอว่าคนรุ่นนี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อเพื่อนมนุษย์ได้จริง ขอให้ขวนขวายหาความรู้ มีความสุขกับการเรียน ออกไปเห็นโลกกว้าง เปิดโลกของตัวเอง เพื่อให้เป็นสี่ปีที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตมหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากจบการบรรยาย ยังได้มีนักศึกษามาขอถ่ายรูป พร้อมล้อมวงแลกเปลี่ยนนอกรอบสั้นๆ ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันด้วย