สนค.ปรับเป้าเงินเฟ้อปี’65 รอบใหม่ โต 6% เหตุพลังงาน-ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้มพุ่ง

สนค.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ 65 ขยายตัว 6% ขณะที่เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 65 สูงขึ้น 7.61% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุหลักยังมาจากราคาพลังงาน-น้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม-ค่าไฟฟ้า ที่กระทบต่อภาคขนส่ง

 

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 107.41 ลดลง 0.16% เมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี เป็นการลดลงจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง และสูงขึ้น 7.61% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานในกลุ่มดีเซล ที่ส่วนใหญ่ขนส่ง-โลจิสติกส์ใช้ซึ่งไม่ได้ลดราคาและก็กระทบต่อต้นทุนสินค้า

พร้อมกันนี้ สนค.ยังได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่อยู่ที่ 5.5-6.5% ค่ากลางอยู่ที่ 6% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่มีการคาดการณ์ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 4-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% สำหรับค่าเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.89%

“เงินเฟ้อเดือนนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนกระทบต่อเงินเฟ้อ 52.57% โดยรวมไปทั้งค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ยังไม่ได้แยกว่าแต่ละรายการกระทบเท่าไร จึงระบุไม่ได้ว่ากระทบมากเงินเฟ้อแค่ไหน แต่จากราคาพลังงานที่เพิ่มก็กระทบต่อเงินเฟ้อ ต้นทุนการขนส่งสินค้า และประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรราคาดี กิจกรรมส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมไปถึงมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้า ดูแลค่าครองชีพ”

แต่อย่างไรก็ดี สนค.ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเงินเฟ้อจะปรับขึ้น-ลดเท่าไรจากนี้จากราคาพลังงาน ค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีปัจจัยจากสถานการณ์ภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ซึ่งมีความผันผวน จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์ รวมไปถึงกรณีการซ้อมรบของจีน จะเกิดภาวะตรึงเครียดหรือไม่ จะกระทบต่อราคาพลังงานอย่างไร เพราะสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ล้วนมีโอกาสทำให้เงินเฟ้อขึ้น-ลดลงได้

นายรณรงค์กล่าวอีกว่า สินค้ากลุ่มพลังงานยังเป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลของการคำนวณจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เงินเฟ้อขยายตัว

กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 52.57% แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนนี้จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 8.02% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่ง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด (ถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ลองกอง)