“นิพิฏฐ์” แซะ อุดมคติสู้คณิตศาสตร์การเมืองไม่ได้ ชี้ รธน.ไม่ใช่ถุงกล้วยแขก

“นิพิฏฐ์” แซะ อุดมคติสู้คณิตศาสตร์การเมืองไม่ได้ เหน็บ รธน.ไม่ใช่ถุงกล้วยแขก จะฉีกอย่างไรก็ได้ 

วันที่ 4 ส.ค.2565 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่อง “อุดมคติทางการเมือง หรือ จะสู้คณิตศาสตร์ทางการเมือง” โดยมีรายละเอียดว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ปรากฎตามเหตุผลในการแก้ไข ท้ายการแก้ไข เดี๋ยวนี้ นักกฎหมายส่วนใหญ่ จะตีความกม.เอาเองตามใจชอบ แท้ที่จริงแล้วเหตุผลของกฎหมาย อยู่ตอนท้ายของกฎหมายทุกฉบับ เหตุผลของรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ก็อยู่ที่เหตุผลในการแก้ไขตอนท้าย ที่ไม่ต้องการให้คะแนนตกน้ำ โดยคำนึงถึงเจตนาการเลือกของประชาชนทุกคะแนน โดยแยกเป็นการเลือกส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อออกจากกัน มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่จึงมีเจตนาให้นับคะแนนบัญชีรายชื่อทุกพรรค ทุกคะแนน มาเฉลี่ยกันให้ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน โดยไม่ปะปนกับคะแนนส.ส.เขตเลือกตั้ง ตามเจตนานี้ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องหารด้วย 100 จึงต้องขอชื่นชมสมาชิกรัฐสภาที่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 นี่เรียกว่าเป็น”อุดมคติทางการเมือง”
รัฐธรรมนูญที่แก้ไข เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 ยังไม่ทันได้ใช้ และยังแก้ไขไม่ถึงปีเสียด้วยซ้ำปรากฎว่า สมาชิกรัฐสภาชุดเดียวกันนี่แหละ ก็เปลี่ยนใจจะมาแก้ไขใหม่ ด้วยการตีความเบี่ยงเบน ให้ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 แต่ก่อนลงมติในวาระสุดท้าย พรรคการเมืองก็เห็น”คณิตศาสตร์ทางการเมือง” ว่า หากจะให้หารด้วย 500 พรรคตัวเองจะเสียเปรียบ เลยเปลี่ยนใจอีกครั้ง จะกลับไปใช้ 100 หารตามเดิม
น่าเวทนา ตรงที่ ตั้งแต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2564 มาจนถึงเดือน สิงหาคม 2565 สมาชิกรัฐสภาชุดนี้ เปลี่ยนใจในการตีความรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ครั้ง คือ หาร 100 หาร 500 และ จะกลับไปใช้หาร 100 อีก
รัฐธรรมนูญเป็นกม.สำคัญที่สุด แต่ใน 1 ปี สมาชิกรัฐสภา เปลี่ยนใจ กลับไป-กลับมา กับกม.สูงสุดแล้วถึง 3 ครั้ง เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นกระดาษถุงกล้วยแขก จะฉีกอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ครั้งนี้ เป็นการฉีกด้วยการเบี่ยงเบนการตีความเข้าข้างตนเอง โดยประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วยเลย ใครจะไว้วางใจก็ไว้วางใจไปเถอะ ผมไม่เอาด้วย ลองเถียงมาดู