นายกสมาคมทนายความ ยกรธน.ล็อกรัฐสภา ต้องร่างกม.เลือกตั้ง ให้สอดรับบัตร 2 ใบ

“นรินท์พงศ์” นายกสมาคมทนายความแถลงการณ์ต้าน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับใช้บัตรใบเดียว ชี้ผิดเจตนารมย์รธน.ระบุใครดำเนินการ แก้ไขขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงถูกถอดถอนได้

 

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่าเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปรากฏอยู่ในหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 คือ “เพื่อให้การคำนวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน และการให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต”

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาจึงมีหน้าที่แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับเหตุผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การปรับปรุงวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อใหม่เพื่อให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และการมีบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้ ประชาชนได้เลือกพรรคและเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต การกระทำใดที่ผิดเพี้ยนไปจากเหตุผลดังกล่าวคือการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

คำว่า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 8 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตน (integity) ซึ่งตรงกับบาลีที่ปรากฏในทศพิธราชธรรมว่า “อวิโรธนัง” คือการไม่เอนเอียงไปจากความถูกต้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีลักษณะร้ายแรงที่อาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1)

ดังนั้น การที่ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่พยายามบิดเบือนเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผิดเพี้ยนไปจากเหตุผลในท้ายรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยอ้างเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 ที่มีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในทางใดก็ได้ก็ตามซึ่งอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่การกระทำที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ดังกล่าว สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถือเอาประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม

กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบการกระทำของคน ส่วนจริยธรรมเป็นเครื่องมือตรวจสอบความซื่อสัตย์ของการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการตรวจสอบสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าความเป็นคน