ฝ่ายค้าน : “ชลน่าน” ยันเพื่อไทย ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500 “พิธา” ลั่นก้าวไกล เอาสูตรหาร 100

“หมอชลน่าน” รับ สภาล่มมีนัยยะทางการเมือง ยัน “เพื่อไทย” ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500 ชี้ การไม่อยู่เป็นองค์ประชุม เป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง “ก้าวไกล” ย้ำจุดยืนเอาหาร 100 ลั่น พร้อมสู้ทุกกติกา ยินดี เกิดพรรคการเมืองใหม่เพิ่มขึ้น

 

วันที่ 4 ส.ค.65 เมื่อเวลา 12.20 น.  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาล่มเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) มีนัยยะทางการเมืองที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือไม่ ว่า ยอมรับตรงๆ ว่ามีนัยยะทางการเมือง ซึ่งการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมายต้องพิจารณาตัวกฎหมายเป็นหลัก

ถ้าเห็นว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่มีปัญหาไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ จึงใช้กลไกมาตรา 132 ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นทางออกทางหนึ่งและเป็นกลไกระงับยับยั้งกฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบ หรือออกไปใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาก็เปิดช่องไว้ และกฎหมายลูกกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องพิจารณาภายใน 180 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้นำกฎหมายที่เสนอในวาระแรกนำมาบังคับใช้เลย

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า พรรค พท.มีเจตนารมณ์เมื่อแพ้โหวตมาตรา 23 แล้วตามที่กฎหมายเสนอโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ว่ามีการสั่งการให้พลิกกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตร 2 หารด้วย 500 สิ่งที่เราคิดในการทำหน้าที่มาโดยตลอดเพื่อให้กฎหมายที่ถูกเสนอมาโดยชอบกลับมาบังคับใช้ให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.ปล่อยให้มีการพิจารณาลงมติในวาระ 3 หาร 500 แล้วไปรอคำทักท้วงของ กกต.​ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกา 2.คว่ำในวาระ 3 และ 3.ใช้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132

โดย 3 ทางเลือกพรรคพท. คิดมาแต่แรกว่าทางเลือกที่ 1 จะดีกว่าทางเลือกอื่น เพราะแนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 สุ่มเสี่ยงที่เขาจะอ้างในการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญขัดกันกับกฎหมายลูกไม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรใบเดียว หาร 500 ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น

ดังนั้น แนวทางที่ 1 เราเองก็ไม่แน่ใจว่ากกต.กับศาลจะทักท้วงหรือไม่ แม้ว่าพรรค พท.จะชอบแนวทางที่ 3 เพราะเราได้ประโยชน์สูงสุด แต่กระบวนการตรากฎหมายมันไม่ชอบ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะมาร่วมกับเรา เราไม่ได้เป็นผู้โน้มนาวชักจูง เพราะเรายืนอยู่มาจุดนี้ตลอดทั้งหมดจึงไม่ใช่เกมแต่เป็นกลไกรัฐสภาในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

“มันเป็นร่างที่ครม.เสนอมา ครม.ควรจะต้องอับอาย แม้แต่ร่างตัวเองที่ไปปรับแก้ไขในวาระ 2 ไปหักร่างตัวเอง กกต.เสนอมา คุณก็ไปหักในวาระที่ 2 นี่เป็นเจนารมณ์เราตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นเกมเมื่อวาน แต่ถ้าตีว่าเป็นเกมเราก็ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเมื่อวาน แต่เป็นทางเดินของเรา ส่วนใครจะมาร่วมกับเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า พรรค พท.จะยื้อให้ครบเวลา 180 วันหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายืนยันเจตนารมณ์นี้มาแต่แรก เพียงแต่เราไม่ได้ประกาศเท่านั้น ซึ่งในกมธ.เราก็สู้มาโดยตลออดว่าเราไม่เห็นด้วย ยิ่งปรับแก้ยิ่งมีปัญหา เราก็สงวนความเห็นและมาสู้ในสภาต่อ ฉะนั้น เกม พท.ที่วางไว้เรายืดประโยชน์สูงสุดด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับในการตรากฎหมายขึ้นมา เราไม่ได้ยึดติดว่าจะหารอะไร แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขมาให้ใช้สูตรหาร 100 แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น

เมื่อถามว่า ในสัปดาห์หน้าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราก็สู้แบบนี้ต่อ ส่วนใครจะมาร่วมกับเราไม่ใช่ประเด็นที่เราเป็นผู้ไปกำหนด เพราะเราเป็นเสียงข้างน้อย ถ้าสังเกตว่าเมื่อวานถ้าสมาชิกไม่ร่วมกับพรรค พท. มันก็ไม่เกิดเหตุการณ์ใช้กลไกสภาระงับยับยั้งกฎหมายที่ไม่ชอบได้ ตนจึงมีความมั่นใจว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเห็นแล้วว่ามันไม่ชอบจึงใช้แนวทางนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์และเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะลงมติหรือไม่ลงมติ

“การทำหน้าที่ในสภา การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ดีไม่ดีขอให้ดูที่ผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลที่เกิดขึ้นดีกับประเทศชาติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดี ไม่ใช่ว่านั่งประชุมแล้วนั่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาแล้วทำงานได้ดี ทำงานแล้วมันไม่ดีกับประเทศชาติแล้วไปยกย่องว่าทำงานได้ดี ผมไม่เห็นด้วย” นพ.ชลน่าน กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาองค์ประชุมไม่ครบในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ประชาชนคงอยากเห็นการทำงานของสภาในปีสุดท้ายได้ผ่านกฎหมายและวาระสำคัญ แม้บางคนอาจจะติดงานในพื้นที่ หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลทำงานเต็มที่ในส่วนของกฎหมายต่างๆ

ทั้งนี้ หากร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ผ่านไปได้ และไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งร่างของกกต.กำหนดเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ก็คงต้องตีความเช่นนั้น เพราะถ้าหารด้วย 500 ก็คงมีปัญหา เกิดความยุ่งยากพอสมควร ดังนั้น ควรให้ผ่านรัฐสภาไปได้ เพื่อที่กระบวนการจะได้ไปถึงกกต.

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ เพื่อไม่ให้ทันตามกรอบเวลา 180 วัน นายพิธา กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะคิดว่าทุกคนเข้าใจเรื่องกรอบเวลา แต่เหตุที่องค์ประชุมล่มอาจเพราะหลายคนติดธุระข้างนอก หรือติดประชุมกมธ.คณะต่างๆ เชื่อว่าวิปสองฝ่ายจะหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการผ่านไปได้ด้วยดี

นายพิธา กล่าวต่อว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลยืนยันว่าเห็นด้วยกับการหาร 100 เพราะตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ พรรคก้าวไกลอยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เมื่อถูกลดทอนเหลือแค่เรื่องการคำนวณส.ส. เราก็เสนอสูตร MMP แต่เมื่อถึงวันนี้ก็ไม่ใช่ทั้งสองแบบ แต่เป็นการหาร 100

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลพร้อมร่วมกติกาใหม่หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ได้แบบที่ใจต้องการทุกอย่าง การเมืองเป็นเรื่องของการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ไม่มีใครสามารถชนะทั้งกระดานได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน พรรคก้าวไกลต้องปรับตัว แม้เราควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ แต่เราควบคุมปัจจัยภายในของเราได้ พรรคก้าวไกลต้องการให้มีส.ส.เขตมากขึ้น และมีให้ครบทุกภูมิภาค ส่วนเรื่องจำนวนว่าจะได้ส.ส.กี่คน คงไม่ใช่ประเด็นหลักของพรรค

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่เพิ่มขึ้นหลายพรรค นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกยินดี เพราะพรรคการเมืองยิ่งเยอะยิ่งดี แต่ขอให้แข่งขันกันโดยใช้นโยบายและประชาชนเป็นที่ตั้ง และสู้กันอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่หลายพรรคถูกมองเป็นนั่งร้านของรัฐบาลนั้น ตนขอโฟกัสแค่พรรคก้าวไกล ไม่ขอวิจารณ์พรรคอื่น

เมื่อถามถึงการลงมติวาระ 3 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นายพิธา กล่าวว่า คงลงมติให้สอดคล้องกับอดีตที่ผ่านมากับจุดยืนที่ได้พูดไป ไม่มีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแน่นอน

เมื่อถามว่า พรรคใหญ่มีการแตกเป็นพรรคย่อย ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีพรรคที่เป็นพันธมิตรหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เรื่องของพรรคพันธมิตรในโครงสร้างพรรคเราไม่มี แต่เรื่องนโยบาย การต่อต้านการสืบทอดอำนาจ การปฏิรูปเศรษฐกิจก็มีหลายพรรค ทั้งพรรคที่อยู่ในสภา และพรรคที่ไม่ได้อยู่ในสภา