กทม. เดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

กทม. พร้อมขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

 

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมการประชุมหารือก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 : Health security ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค. 65 เพื่อหาแนวทางดำเนินงานการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข การจัดลำดับนโยบายและประเด็นสำคัญ ความเชื่อมโยงของการปฏิรูปกับแผนงาน บทบาทของ WHO-CCS PHE Program และ EPI (Ending Pandemic through Innovation) ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปที่สำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการประชุม รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครว่า ในฐานะที่เป็นคนทำและในฐานะของพื้นที่ที่ทำ การเริ่มต้นที่เป็นทางการสามารถทำต่อไปได้อย่างที่เราตั้งใจ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเปิด Sandbox จะทำพื้นที่การทดลองเพื่อใช้ ไอเดียนี้มีไหม ดีเพราะมันต้องลองว่าทำได้จริงไหม แต่มันจะยั่งยืนไหมคงไม่ เพราะ Sandbox เป็นการใช้การออกแบบพิเศษจากคนกลุ่มหนึ่งในการที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ในฐานะประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในวงการแพทย์สูงมาก และเชื่อว่านโยบายสาธารณะหรือการบริการสาธารณะควรมี 2 สิ่งนี้อยู่ คือ 1. ความเป็นมืออาชีพ เมื่อไหร่ที่การบริการสาธารณะใดก็ตามที่มีความเป็นมืออาชีพในตัว หมายถึงคนที่เคยอยู่บนยอดสูงสุดของบริการสาธารณะ เป็นคนที่มีความรู้มากๆ มีความเป็นมืออาชีพ ยึดถือในจริยธรรม ความเชื่อเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการยืดหยุ่นให้ระบบสามารถบริการคนได้มากขึ้นมันเกิดขึ้นได้บนการตัดสินใจที่เป็นมืออาชีพของบริการสาธารณะ 2. ความเป็นเทคนิคในทุกเรื่องที่สืบเนื่องความเป็นมืออาชีพ เป็นคำตอบที่ตอบได้ว่าเช่นนี้ทำได้ เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลความรู้ที่มีมากที่สุดของวงการ

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วเรื่องสุขภาพขายถ้าเราตอบได้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนทางด้านสุขภาพให้กับภาคประชาชน สำหรับความสูญเสีย 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ในฐานะผู้ใช้บริการสาธารณสุขมันไม่ใช่แค่ความสูญเสียทางสภาพเศรษฐกิจ บางคนสูญเสียชีวิต และบางคนไปต่อไม่ได้ กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจอยากจะเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1. ทดลองนำร่องปฐมภูมิ เพิ่งเปิดตัวดุสิตโมเดลไปวันที่ 28 ก.ค. 65 และ

2. ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ ที่ตั้งใจจะทำให้ได้และเปิดตัวภายในปลายเดือนนี้ การขยับเขยื้อนในการทำให้การสาธารณสุขปฐมภูมิเป็นการแพทย์ใกล้บ้านใกล้ใจเกิดขึ้น การดำเนินการมีการส่งผลกระทบ หน่วยงานมีการปรับตัวมากขึ้น ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ สถานพยาบาลต้องร่วมมือกัน การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นเริ่มมีสัญญาณว่าสามารถทำได้และเปลี่ยนแปลงได้

สุดท้ายอีกเรื่องที่สำคัญมีอีกหนึ่งกลไกที่กรุงเทพมหานครกำลังรื้ออยู่คือการปฏิรูประบบราชการ เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ดูแลพื้นที่และเชื่อมโยงกันอาจไม่ใช่คนที่ดูแลบริหารจัดการเรื่องพื้นที่สุขภาพ ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึงสำนักงานเขตมากนักทั้งที่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับประชาชน 2. ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจระบบสุขภาพปฐมภูมิว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่กรุงเทพมหานครที่ทำให้กลไกปลายทางเสริมไปกับกลไกสุขภาพที่กรุงเทพมหานครทำ และภายในอาทิตย์นี้คาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีกลไกในการช่วยกันคิดช่วยกันทำข้อเสนอแนะว่า ที่คิดหรือทำกันอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งมั่นใจว่าจะต้องมีช่องว่าง เมื่อเจอช่องว่างก็มาหาวิธีการปิดช่องว่างให้เร็ว

พอมีการรื้อระบบบางอย่างให้เกิดความเข้าใจในการทำงานรวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถทลายอุปสรรคในการทำงานและขับเคลื่อนงานให้ไปได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับภาคประชาชนปลายทางได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าแซนด์บ็อกซ์ที่จะเปิดในอนาคตจะสามารถโชว์อะไรบางอย่างให้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ และทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจนถึงที่สุด สามารถขยายผลไปทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และอาจรวมถึงปริมณฑลด้วย