ทำความรู้จัก แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐ ผู้ท้าชนจีนจากเทียนอันเหมินสู่บินเยือนไต้หวัน

สตรีที่ได้ชื่อว่า มีตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แนนซี เพโลซี กำลังเดิมพันสร้างประวัติศาสตร์อีก เมื่อเดินทางเยือนไต้หวัน ทั้งที่มีคำขู่ประณามและมาตรการตอบโต้จากจีนที่น่าหวั่นใจ

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานถึงเหตุผลการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้แทนระดับสูงสุดของอเมริกาที่กล้าเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี ทั้งที่ถูกขู่ ทัดทาน และประท้วงจากจีนอย่างแข็งกร้าวแล้วก็ตาม

เหตุผลชัดเจนที่สุดคือ นางเพโลซีต้องการแสดงถึงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย เหมือนเช่นที่เคยทำเมื่อปี 1991 (พ.ศ. 2534) หรือ 31 ปีก่อน หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งทางการจีนปราบปรามนักศึกษาประชาชน

ครั้งนั้นนางเพโลซีเพิ่งจะเป็นส.ส.หน้าใหม่ ของพรรคเดโมแครต จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมทริปไปกับคณะเล็ก ๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐ ลงไปถือป้ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน จุดเดียวกับที่เกิดเหตุนองเลือด 2 ปีก่อนหน้านั้น แม้รัฐบาลจีนพยายามปิดกั้นอย่างที่สุด

แนนซี เพโลซี
เพโลซีไปถือป้ายหนุนประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1991 / CNN

ส่วนทริปครั้งล่าสุด เพโลซีกล่าวถึงการเยือนไต้หวันในจังหวะเวลานี้ว่า “อยู่ในช่วงที่โลกเผชิญทางเลือกระหว่าง อัตตาธิปไตย กับประชาธิปไตย” หลังจากประธานสภาหญิงเพิ่งไปเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน เมื่อเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางสงครามการสุ้รบและการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

“เราต้องยืนเคียงข้างไต้หวัน” เพโลซีเขียนถึงข้ออ้างอิงในคำมั่นสัญญาของสหรัฐที่มีต่อไต้หวัน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายปี 1979 (พ.ศ.2522) เผยแพร่ในวอชิงตันโพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐ จังหวะเดินทางถึงไต้หวัน

“เราต้องแสดงชัดว่าอเมริกาและพันธมิตร จะไม่ยอมให้กับพวกปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” เพโลซีระบุ

รัฐบาลไบเดนว่าอย่างไร

ระหว่างที่ถูกจีนแถลงเตือนก่อนหน้านี้ รัฐบาลนายโจ ไบเดน และนางเพโลซี สื่อสารหลายครั้งว่า สหรัฐยังคงยึดมันต่อนโยบายจีนเดียว หรือ  “One-China policy”

นับจากไต้หวันกับจีนแยกการปกครองกันช่วงสงครามกลางเมือง เมื่อปี 1949 ที่กลุ่มก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้กองกำลังคอมมิวนิสต์ และถอยร่นไปอยู่ไต้หวัน จีนยังคงถือว่าเกาะไต้หวันยังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และไม่ปฏิเสธที่จะใช้กำลังทหารยึดคืนมา

นายโจเซฟ อู๋ รมว.ต่างประเทศไต้หวัน มาต้อนรับนางเพโลซี ที่สนามบิน เมื่อ 2 ส.ค. ( Taiwan Ministry of Foreign Affairs via AP)

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารและการทูตยิ่งขึ้น โดยตัดการสื่อสารกับรัฐบาลไต้หวันอย่างรอบด้าน ตั้งแต่ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน

เมื่อมีคณะผู้แทนจากสหรัฐติดต่อสัมพันธ์กับไต้หวันเมื่อใด จีนจะมองว่า เป็นความพยายามของไต้หวันที่จะแยกตัวเป็นเอกราชอย่างถาวร แม้ว่าผู้นำสหรัฐกล่าวว่าไม่สนับสนุนแนวทางนี้ก็ตาม

ช่วงที่มีข่าวกระหึ่มก่อนการเดินทางของเพโลซี รัฐบาลนายไบเดนแสดงออกด้วยความกังวล แต่ไม่ได้เอ่ยต่อต้านอย่างเปิดเผย ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของประธานสภาว่าจะเยือนไต้หวันหรือไม่

Photo by SAUL LOEB / POOL / AFP

ขณะเดียวกัน ก่อนที่นางเพโลซีจะออกเดินทาง กองทัพสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น เรือบรรทุกเครื่องบินรบ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน เคลื่อนเข้ามายังทะเลฟิลิปปินส์ พร้อมกับที่มีคำขู่ด้านการทหารจากจีน

นอกจากยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกนแล้ว ยังมีเรือยูเอสเอส แอนทีทัม และเรือพิฆาต ยูเอสเอส ฮิกกินส์ เดินทางจากสิงคโปร์ขึ้นไปทางเหนือไปยังท่าจอดเรือในญี่ปุ่น เรือเหล่านี้มีเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ ระบบเรดาร์ และอาวุธอื่น ๆ ติดตั้งประจำการอยู่ด้วย

เส้นทางการเมืองเพโลซี

แนนซี เพโลซี มีชื่อเต็มว่า แนนซี แพทริเซีย ดีอาเลซานโดร เพโลซี   เกิดวันที่ 26 มีนาคม 1940 (พ.ศ.2483) ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 7 คนของครอบครัวที่มีเชื้อสายอิตาเลียน จบรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ

เพโลซีเดินทางไปยังรัฐสภาไต้หวันในกรุงไทเป เมื่อ 3 ส.ค. REUTERS/Ann Wang

เพโลซีเป็นผู้แทนมาตั้งแต่ปี 1987 (พ.ศ. 2530) ในนามสมาชิกเดโมแครต เขตเลือกตั้งที่ 8 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยขึ้นเป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภา (Minority Leader) ช่วงปี 2022-2007 (พ.ศ.2545-2550) จากนั้นปี 2007 ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2019 (พ.ศ.2562)

เพโลซีเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่เป็นสตรี และเป็นชาวแคลิฟอร์เนียคนแรกและชาวอิตาเลียนอเมริกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง ถือเป็นสตรีที่มีตำแหน่งสูงสุดในประวัติศาสตร์การปกครองของสหรัฐอเมริกา และเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐที่กลับมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งได้