“อรุณี” ชี้ไม่รู้ใครได้ประโยชน์ สูตร ส.ส.หาร 100 หรือ 500 แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถกเถียงกันระหว่างหาร 100 กับ หาร 500 โดยเฉพาะการเปลี่ยนท่าทีข้ามคืนของฝ่ายรัฐบาลที่กลัวแพ้พรรคเพื่อไทยท่ามกลางกระแสความนิยมของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ตกต่ำต่อเนื่อง จึงนำไปสู่ความพยายามกลับมาสูตรเดิม แต่กลับเจอเสียงวิจารณ์ว่า

สูตรอลหม่าน! เดี๋ยวหาร 500 เดี๋ยวหาร 100 ใครได้ประโยชน์ไม่รู้ แต่ประชาชนไม่ได้อะไร

เรื่องสูตรเลือกตั้ง ส.ส. หาร 500/100 นี่มันอลวนอลเวงดีนะคะ แม้ว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. จะพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสร็จสิ้นไปแล้วและมีมติเห็นชอบกับสูตรหาร 500 ก็ตาม แต่ล่าสุดก็มีสัญญาณจากฟากฝั่งรัฐบาลว่าจะพลิกลิ้นอีกรอบกลับมาใช้สูตรหาร 100 เหมือนเดิมอีกครั้ง ทำให้หญิงสงสัยมากค่ะว่าใครกันที่ได้ประโยชน์จากเกมชักเย่อนี้
.
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น สำหรับใครที่ยังรู้สึกงง ๆ อยู่ว่า อะไรคือหาร 500 อะไรคือหาร 100 หญิงขออธิบายให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนนะคะ
.
อย่างที่ทุกคนทราบกันว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ตาม และมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. จากแบ่งเขต 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 เป็นแบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน แบบการเลือกตั้งปี 2540 ซึ่งที่มาของ ส.ส. แบบแบ่งเขตนั้นง่ายมากค่ะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนไหนที่ประชาชนเทคะแนนให้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในเขตนั้นก็ได้เป็น ส.ส.เขต แบบที่เราเข้าใจกันมาตลอด แต่ปัญหาของเรื่องนี้ที่ชวนสับสนอยู่ที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเป็นตัวกำหนดว่าพรรคเล็กพรรคน้อยจะสูญพันธุ์หรือไม่ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้
.
“สูตรหาร 100”
.
สูตรหาร 100 นั้นเป็นสูตรที่เข้าใจง่ายและคนไทยคุ้นเคยกันอยู่แล้วนะคะ นั่นคือ นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ไปหารด้วยคะแนนรวมทั้งหมดที่ทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ที่ได้เป็น “คะแนนเฉลี่ย” ต่อจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน แล้วนำคะแนนเฉลี่ยที่ได้ไปหารกับจำนวนคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้รับ จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคจะได้รับจนครบ 100 คนตามที่กำหนด สูตรนี้เคยถูกใช้ในการเลือกตั้งปี 2544 และการเลือกตั้งปี 2548 ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 นั่นเองค่ะ
.
“สูตรหาร 500”
.
สำหรับสูตรหาร 500 หญิงขอเรียกมันว่าเป็นการกลับไปสู่วังวนวงจรอุบาทว์แบบเดิม ๆ เป็นสูตรที่ทำให้เรามี ‘ส.ส.พึงมี’ เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 และทำให้เราได้นายกฯ ชื่อประยุทธ์นี่แหละค่ะ แล้วเป็นสูตรที่หญิงว่าเข้าใจยาก ซับซ้อน ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตยและประชาชนเลยแม้แต่น้อย สูตรหาร 500 ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาฯ มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
.
สูตรนี้เริ่มจากการนำคะแนนรวมที่เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งหมดไปหารกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมด นั่นคือ 500 ผลลัพธ์ที่ได้คือ “คะแนนเฉลี่ย” ต่อจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน หลังจากนั้นนำคะแนนบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย จะได้จำนวน ส.ส.พึงมี ที่แต่ละพรรคจะมีได้… ยังไม่หมดค่ะ ไปต่อ หลังจากที่ได้ ส.ส.พึงมีที่แต่ละพรรคได้รับแล้ว ต้องนำจำนวนนี้ไปลบกับจำนวน ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้อีกค่ะ ผลที่ได้นั่นแหละค่ะ จึงจะเป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ได้พรรคนั้น ๆ จะได้รับการจัดสรร แต่ถ้าพรรคไหนที่จำนวน ส.ส.เขต มีมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ที่ควรจะได้รับแล้ว พรรคนั้นก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก
.
ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ สมมติว่าสูตรหาร 100 ส.ส. คนนั้นต้องได้คะแนนเสียง 300,000 คะแนน จึงจะได้เป็น ส.ส. แต่ถ้าใช้สูตรหาร 500 ขอแค่ได้คะแนนเสียงเพียง 75,000 คะแนน ก็เป็น ส.ส. ได้แล้ว ดังนั้นไม่แปลกเลยค่ะที่พรรคเล็กและบรรดา ส.ส.ปัดเศษ จะชอบสูตรการคำนวณแบบนี้
.
ทีนี้เมื่อเราเข้าใจกันแล้วว่าสูตรหาร 500/100 คืออะไร หญิงจะพาทุกคนไปหาคำตอบของสมมติฐานที่หญิงตั้งไว้ว่า เกมชักเย่อที่ดึงไปมาระหว่างสูตร 500 กับสูตร 100 นี้ ไม่มีใครที่ได้ประโยชน์เลยนอกจากผู้อำนาจอย่าง พลเอกประยุทธ์และองคาพยพเท่านั้น
.
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. มีข่าวว่า พลเอก ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐสนับสนุนสูตรหาร 100 เพราะพรรค พปชร. จะได้ประโยชน์มากที่สุดในฐานะพรรคใหญ่ แต่ก่อนหน้าการประชุมเพื่อลงมติ พ.ร.ป. ฉบับนี้ไม่กี่วันก็มีกระแสข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ ส่งสัญญาณให้คว่ำโหวตสูตรหาร 100 เปลี่ยนมาเป็นสูตรหาร 500 เนื่องจากพรรคเล็กซึ่งเป็นกำลังที่ขาดไม่ได้ของ พลเอก ประยุทธ์ จะได้ประโยชน์ และพรรคขนาดกลางก็ไม่ได้เสียเปรียบมาก
.
“พลิกแล้วพลิกอีก”
.
ท้ายที่สุดผลก็ออกมาอย่างเราทราบกันนะคะ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาคว่ำสูตรหาร 100 และมีมติเห็นชอบกับสูตรหาร 500 ตามญัตติของ นพ.ระวี จากพรรคพลังธรรมใหญ่ แม้ว่าคณะกรรมธิการวิสามัญเสียงข้างมากจะเห็นชอบก็ตาม ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกค่ะที่จะมีการพลิกลิ้นกันกลางสภา เพราะหญิงได้ข่าวว่าวันนั้นมีการแจกกล้วยกันว่อนไปหมด แต่ค่ะแต่ เรื่องไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เพียง 2 สัปดาห์หลังการลงมติเห็นชอบกับสูตรหาร 500 ฟากฝั่งรัฐบาลเหมือนจะเพิ่งฟื้นคืนสติได้ว่าสูตรหาร 500 ในการเลือกตั้งบัตรสองใบนั้นมีแต่เสีย และล่าสุดมีข่าวมาอีกแล้วค่ะว่าฝ่ายรัฐบาลจะคว่ำสูตรหาร 500 ที่เพิ่งให้ผ่านมากับมือเอง และหันไปผลักดันให้กลับไปใช้สูตรหาร 100 เพราะเห็นว่าแม้ใช้สูตรหาร 500 แต่พรรคเล็กก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก ในขณะที่ก็มีอีกกระแสข่าวหนึ่งว่า จะใช้สูตร 500 ตามเดิมนั่นแหละ แต่จะพลิกลำยิ่งกว่าแหกโค้งเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 พลิกที่ 1 จากสูตรหาร 100 มาเป็นหาร 500 พลิกที่ 2 จะเปลี่ยนจากหาร 500 เป็นหาร 100 และถ้าจะพลิกยิ่งกว่าเดิมกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเดียวเหมือนเดิมอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งแก้มาใช้บัตรสองใบและยังไม่ทันใช้เลยด้วยซ้ำเนี่ย หญิงไม่รู้ว่าจะพูดว่าไงเลยค่ะ
.
“ใครได้ประโยชน์ในเกมนี้?”
.
การเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาชน การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่ประชาชนเจ้าของอำนาจจะได้แสดงออกว่าต้องการให้ใครมีอำนาจ ใครเป็นคนพัฒนาประเทศ และจะเห็นประเทศพัฒนาไปทางไหน ดังนั้น หญิงว่ากติกาการเลือกตั้งจึงสำคัญในฐานะเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการจริง ๆ ของประชาชน วิธีการเลือกตั้งและการคำนวณคะแนนจะทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจเห็นคุณค่าในเสียงของประชาชนหรือไม่ แต่เท่าที่หญิงเห็นในเกมชักเย่อทางอำนาจกันไปมาของฝ่ายรัฐบาลนี้คือการไม่เห็นหัวประชาชนเลยแม้แต่น้อย ตอนนี้รัฐสภายังจะเหลือความน่าเชื่อถืออะไรอีกคะ ถ้าวิธีการคำนวณและรูปแบบการเลือกตั้งเปลี่ยนกลับไปกลับมาตามใบสั่ง เชื่อฟังใครบางคนมากเสียยิ่งกว่าซื่อสัตย์กับหลักการที่ตัวเองได้รับรองไปแล้วก่อนหน้า ต่อไปประชาธิปไตยจะมีหน้าตาอย่างไรในเมื่อผู้แทนราษฎรยอมเป็นนั่งร้านค้ำยันเพื่อให้ใครบางคนได้อยู่ในอำนาจต่อ โดยไม่ใยดีว่ามันได้กระทบต่อหลักการอันชอบธรรมใด ๆ ที่สังคมยึดถือ
.
ฟากรัฐบาลไม่ได้มองว่านี่คือการเลือกตั้งที่ควรจะสะท้อนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาขน สำหรับพวกเขานี่เป็นแค่เกม ๆ หนึ่งของใครบางคนที่ต้องการจะสืบทอดอำนาจ โดยไม่แยแสเลยว่าจะต้องผิดคำพูดมากมายแค่ไหน และไม่แยแสเลยว่ารัฐสภาควรจะเข้มแข็งเพื่อเป็นที่พึ่งให้ประชาชน ระบบการเลือกตั้งที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นอย่างไรคะ? สำหรับหญิงแล้วมันควรระบบการเลือกตั้งที่ง่ายต่อการออกเสียง เอื้อต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งได้อย่างตรงใจที่สุด และเคารพในเสียงข้างมากที่ประชาชนได้เลือกแล้ว นี่แหละค่ะประชาธิปไตย มันเรียบง่ายแค่นี้เอง แล้วการกลับไปกลับมาจนชวนให้ประชาชนสับสน โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมแบบนี้ จะพูดได้เหรอคะว่านี่คือการทำเพื่อประชาชนไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะเพลี่ยงพล้ำต้องแพ้เลือกตั้งในครั้งหน้า
.
สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน เราก็พร้อมที่จะลงเลือกตั้งอย่างสง่างามในทุก ๆ สนาม ทุก ๆ กติกา เพราะเราเชื่อค่ะว่าเราคือพรรคของพี่น้องประชาชน และเราเชื่อในการแข่งขันด้วยนโยบายนั้นจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ประเทศชาติ และประชาธิปไตย มากกว่าการออกกฎกติกาเพื่อเอื้อให้ตนเองชนะ ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงจะเป็นผู้ตัดสิน