ทอ.แจงเหตุ จำเป็นต้องจัดซื้อ F-35 A เพื่อยกระดับทัพฟ้า รับมือภัยคุกคาม!

ทอ.เปิดเอกสาร ชี้แจง จำเป็นต้องจัดซื้อ F-35 A เพื่อยกระดับทัพฟ้า รับมือภัยคุกคาม หลังเครื่องบินรบเก่า เริ่มทยอยปลดประจำการ

วันที่ 31 ก.ค.2565 พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ แจงถึงผลกระทบกรณีการเลื่อนโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน หลังจาก กมธ.แจงตัดงบประมาณจัดซื้อ “F-35 A” ว่า ในปัจจุบันกองทัพอากาศมีเครื่องบินขับไล่โจมตี จํานวน 5 ฝูงบิน ซึ่งกองทัพอากาศ ได้ดําเนินการปรับปรุง ขีดความสามารถของอากาศยานที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถดํารงขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเอาไว้

แต่เนื่องจากข้อจํากัดด้านอายุของอากาศยานมีผลต่อขีดความสามารถของอากาศยานที่ลดลง ข้อจํากัดการส่งกําลัง และซ่อมบํารุงที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งมีระยะเวลาในการจัดหาพัสดุอะไหล่ที่ยาวนาน ส่งผลให้กองทัพอากาศมีความ จําเป็นที่จะต้องทยอยปลดประจําการอากาศยานประเภทเครื่องบินขับไล่โจมตีจาก 5 ฝูงบิน จนเหลือ 2 ฝูงบิน ในปี พ.ศ.2575

กองทัพอากาศจึงวางแผนดําเนินการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี จํานวน 1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบินที่ได้วางแผนทยอยปลดประจําการ เพื่อให้สามารถดํารงขีดความสามารถในการปฏิบัติการบินรบในอากาศ และการโจมตีทางอากาศต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 40 ปี โดยสถานการณ์ปัจจุบันมีการขยายอิทธิพลจากชาติมหาอํานาจสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง และความมั่นคงภายในแต่ละประเทศ ทําให้หลายประเทศในภูมิภาคมีการสะสมกําลังทหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกําลังทางอากาศที่มีขีดความสามารถสูงในการปฏิบัติการทางทหาร อาทิ เมียนมา, มาเลเซีย และเวียดนาม โดยมีการจัดหาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง (เช่น เครื่องบินแบบ Su-27 และ Su-30) ซึ่งอันดับของกําลังทางอากาศของไทยในปัจจุบับอยู่ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน

กองทัพอากาศจึงจําเป็นต้อง จัดเตรียมกําลังให้มีขีดความสามารถและศักย์กําลังรบทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน เพื่อเป็นการป้องปรามและ เตรียมพร้อมรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนสมรรถนะสูงยุคที่ 5 คือ เครื่องบิน F-35 ซึ่งราคาปัจจุบันลดลงต่ำกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 โดยคาดการณ์ราคา Lot 14 อยู่ที่เครื่องละ 77.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 12.8 % จาก Lot 11 และมีส่งมอบ เครื่องบิน F-35 แล้ว มากกว่า 820 เครื่อง

ทําการบินไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 540,000 ชม.บิน จํานวนนักบินที่ได้รับการฝึกตาม โครงการแล้วมากกว่า1,695 คน และ จนท.กว่า 12,520 คน ปฏิบัติภารกิจแล้วใน 8 หน่วยงาน (Service) ประกาศความพร้อมปฏิบัติการแล้ว 12 หน่วยงาน จากประเทศที่มีประจําการใช้งาน ณ ปัจจุบันทั้งหมดจํานวน 9 ประเทศ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงในการปฏิบัติการ ในปัจจุบันยังลดลงถึง 50% นับจากปี ค.ศ.2015

พัสดุอะไหล่ของอากาศยานเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญที่ดํารงขีดความสามารถการป้องกันของกองทัพอากาศ เนื่องด้วยในสภาวการณ์ปัจจุบัน อากาศยาน บ.ขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศอายุการใช้งานมาในห้วงระยะเวลา 20- 40 ปี ซึ่งอยู่ในระยะ Aging Phase ยังผลให้สายการผลิตพัสดุอะไหล่ในการซ่อมบํารุงมีการปิดสายการผลิต และในบางรายการไม่สามารถจัดหาได้ เป็นปัจจัยให้ห้วงเวลาจัดหาพัสดุอะไหล่ทดแทน (Long Lead Time) ในส่วนของพัสดุอะไหล่ในส่วนต่าง ๆ ของอากาศยาน

แม้ว่าการดํารงสภาพอากาศยานที่มีการใช้งานอยู่แล้วจะทําให้กองทัพอากาศสามารถประหยัดงบประมาณได้บางส่วน แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริง การดํารงสภาพอากาศยาน ที่มีอายุการใช้งานยาวนานนั้นส่งผลกระทบทั้งในด้านความปลอดภัย งบประมาณซ่อมบํารุงที่สูงขึ้น ความพร้อมรบของอากาศยานที่ลดต่ำลง เครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 5 สามารถปฏิบัติภารกิจทดแทนทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 ได้ในอัตรา 1:3 และแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 3-4 ได้ในอัตราส่วน 1:6

ทั้งนี้กองทัพอากาศได้วางแผนในการจัดหาในปริมาณที่ลดลงแต่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจที่สูงขึ้น ตามความมุ่งหมายให้กองทัพอากาศสามารถยกระดับสู่กองทัพอากาศคุณภาพ “Quality Air Force” เพื่อให้มี ขีดความสามารถรับมือกับภัยคุกคามได้ทุกรูปแบบ และสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในปัจจุบันและ แนวโน้มในอนาคต ตลอดจนกองทัพอากาศได้วางแผนผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและประโยชน์กับประเทศไทย มากที่สุด

โดยกองทัพอากาศมีแผนที่จะเสนอให้บริษัทผู้ผลิตประเมินขีดความสามารถของบริษัทอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศของไทยที่มีศักยภาพเพื่อจ้างผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศ (S-Curve 11) และการถ่ายทอด เทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่ในการซ่อมบํารุงเพื่อให้มีขีดความสามารถและองค์ความรู้ (S-Curve 12) เพื่อต่อยอดใน อนาคต กองทัพอากาศรับรู้และเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

การจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนในครั้งนี้ จึงมุ่งสู่การยกระดับกองทัพอากาศและประเทศไทย สู่การมีเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง โดยนําไปสู่ การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศซื่งเป็นส่วนสําคัญเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ มีโอกาสสร้างงานในลักษณะแรงงานฝีมือ ซึ่งมีค่าตอบแทนสูง

โฆษกกองทัพอาการ กล่าวว่า เครื่องบินแบบ F-35 A มีขีดความสามารถและคุณสมบัติตรงตามความต้องการตามรายละเอียด ความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีและระบบที่เกี่ยวข้องตามที่ ทอ.ได้กําหนดไว้ ซึ่งหนึ่งในรายละเอียด ความต้องการด้านระบบอาวุธที่สําคัญซึ่งได้กําหนดไว้คือ มีขีดความสามารถในการใช้ระบบอาวุธที่มีประจําการ อยู่ในกองทัพอากาศ

โดยอาวุธดังกล่าวได้แก่ GP Bomb Mk 80 Series, GBU-10 Series, GBU-12 Series และ AIM-120 Series นอกจากนี้เครื่องบินแบบ F-35 A ยังติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 25 มิลลิเมตร และสามารถ ติดตั้งใช้งานระบบอาวุธที่ทันสมัย มีความแม่นยําสูง ทั้งระบบอาวุธนําวิถีอากาศ-อากาศ, อากาศ-พื้น, อากาศ-ผิวน้ํา เช่น AIM-9X, JDAM, AGM-158 JASSM เป็นต้น ซึ่งกองทัพอากาศจะได้พิจารณาจัดหาเข้าประจําการตามกรอบงบประมาณ ที่เอื้ออํานวยต่อไป

จากข้อมูล Defense Security Cooperation Agency (DSCA) ซึ่งเสนอข้อมูลประเทศที่ร่วมผลิตและ สั่งซื้อเครื่องบิน F-35 มีประเทศที่ร่วมในการสั่งซื้อเครื่องบิน F-35 รวม 20 ประเทศ ยอดรวมการสั่งซื้อกว่า 3,400 เครื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเครื่องบินลดลง และค่าอะไหล่และการซ่อมบํารุงลดลง

สําหรับการดําเนินการที่ผ่านมาของโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน กองทัพอากาศได้ส่งหนังสือ Letter of Request (Price and Availability : P&A) ให้กับ JUSTMAGTHAI เมื่อ 28 ธ.ค.64 เพื่อให้เข้ากระบวนการ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐ โดยมีระยะเวลาการขอ P&A ทั้งสิ้นโดยประมาณ 12 เดือน คาดการณ์ว่าจะได้รับคําตอบภายในการขอ P&A ภายใน ม.ค.66 โดยถ้าหากได้รับการอนุมัติการขาย

พร้อมทั้งทราบระยะเวลาการจัดหา รวมถึงราคายุทโธปกรณ์ กองทัพอากาศจะสามารถดําเนินการในเรื่อง Letter Of Offer And Acceptance (LOA) กับทางการสหรัฐฯ แล้วเสร็จใน มิ.ย.66 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพอากาศจะสามารถ ลงนามในหนังสือ LOA และสามารถผูกพันงบประมาณได้เรียบร้อยใน ส.ค.66 ซึ่งการดําเนินการในการจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ

กองทัพอากาศต้องทราบงบประมาณ ที่กองทัพอากาศจะได้รับในโครงการจัดหา เครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนก่อน ถึงจะทําการตกลงกับทางการสหรัฐฯ ได้ ถึงจํานวนอากาศยาน และส่วนสนับสนุน อื่น ๆ ภายใต้การจัดทําสัญญาตามกรอบงบประมาณที่ได้รับ แต่หากกองทัพอากาศมิได้รับงบประมาณในปี 66 ก็ไม่สามารถจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ ได้ และหากกองทัพอากาศเสนอความต้องการเครื่องบิน F-35 ในปี 67 จะทําให้ต้องรอคิวการพิจารณาสายการผลิต

และไม่สามารถเริ่มกระบวนการจัดหาได้ทัน ประเทศสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี กรีก และสาธารณรัฐเชค (กลุ่ม NATO) ซึ่งมีแผนจะสั่งจองการผลิต ในปี 65-66 หากสั่งจองการผลิตล่าช้าจะต้องต่อคิวจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว และความพร้อมปฏิบัติการ ของเครื่องบินF-35 ครบฝูง จะเลื่อนออกไปเป็นปี 77 ซึ่งในห้วงเวลา ระหว่างปี 75-77 ส่งผลให้ไทยจะขาดขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ เนื่องจากการปลดประจําการเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีอายุการใช้งานจํานวนมาก

พล.อ.ต.ปรพภาส กล่าวอีกว่า จากความจําเป็นที่กองทัพอากาศต้อง ดํารงขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ ของชาติ การ ดํารงความพร้อมรบ และหากมิได้จัดสรรงบประมาณในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ในปี 66 จะเป็นผลให้กองทัพอากาศไม่สามารถจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐฯ ได้ทันในปี 66 ได้ ส่งผลให้ การดําเนินการในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนล่าช้าไปอีก 2 ปี

ซึ่งทําให้เสียโอกาส และขาดความพร้อมรบ ของฝูงบินขับไล่โจมตีทดแทนที่ล่าช้าจาก ปี 75 เป็นปี 77 กองทัพอากาศกําหนดความต้องการระยะ 10 ปี (พ.ศ.2563– 2573) ตามที่ระบุในสมุดปกขาว พ.ศ.2563 ปรับปรุงแผนการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน โดยคณะกรรมการศึกษาและจัดทําความต้องการ เครื่องบินขับไล่โจมตีให้มีความเหมาะสมกับงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ และคํานึงถึงขีดความสามารถ ในการปฏิบัติภารกิจให้ได้ในปี 75 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

– ระยะที่ 1 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (66 – 69) จํานวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 7,382 ล้านบาท – ระยะที่ 2 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (69- 71 ) จํานวน 4 เครื่อง วงเงินงบประมาณ14,628 ล้านบาทเศษ – ระยะที่ 3 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (72- 75 ) จํานวน 6 เครื่อง วงเงินงบประมาณ21,924 ล้านบาทเศษ รวมเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น43,935 ล้านบาทเศษ