“จาตุรนต์” มองกระจายอำนาจผ่านหนังกลางแปลง ชี้ อปท.ถูกจำกัดหน้าที่จนจัดงานไม่ได้

วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่ออำนาจบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการจัดงานเทศกาลที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม หลังจากได้ลงพื้นที่ย่านสยามสแควร์ร่วมงานกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งจัดการฉายที่สยามสแควร์เป็นวันสุดท้ายและชมกิจกรรมมินิคอนเสิร์ตที่จัดบนวอร์กกิ้งสตรีททุกสุดสัปดาห์ว่า


ดูหนัง(กลางแปลง) ดูละคร ย้อนดูการเมือง

แวะมาดูหนังกลางแปลงที่สยามสแควร์ ไม่ใช่ตั้งใจย้อนรำลึกความหลังสมัยเป็นเด็ก แต่ต้องการมาดูอะไรใหม่ๆที่คุณชัชชาติและทีมงานได้สร้างสรรค์ขึ้นมามากกว่า แต่ก็อดนึกถึงความหลังสมัยเด็กๆไม่ได้ นอกจากนั่งดูหนังแล้วก็ไปหาซื้อของกินที่มักจะมีขายเวลามีหนังกลางแปลง(ที่ไม่ใช่ป๊อบคอร์น)ให้ครบวงจรเสียด้วย

สมัยเด็กๆ ผมไปดูหนังกลางแปลงบ่อย โดยมากก็ดูเวลามีงานเทศกาลหรือไม่ก็งานศพที่วัดใกล้บ้าน พอเพื่อนๆเขาบอกว่าคืนนั้นคืนนี้จะมีหนังดี ก็ชวนน้องขอแม่ไปดู แม่ก็มีเงื่อนไขแค่ว่าอย่ากลับดึกมากนักเท่านั้น หนังดีหรือหนังใหญ่ๆสมัยก่อนที่จำได้ นักพากย์จะขึ้นต้นชื่อบริษัทว่าเมโทรสิงโตเห่า ต่อมาก็มีหนังของชอว์บราเดอร์ นอกนั้นก็ยืนพื้นด้วยหนังไทยที่กำลังดัง คนดูก็มีทุกรุ่นทุกวัย เรียกว่าหอบลูกจูงหลานเอาเสื่อจากบ้านมาปูดูกัน ถ้าหนังฉายจนสว่างก็มีคนดูกันจนสว่างไปเลย

คุณชัชชาติกับทีมงานจัดงาน ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ได้เป็นที่ฮือฮา มีลักษณะร่วมสมัยที่ผสมผสานหลายๆคอนเซ็ปท์เข้าด้วยกันได้อย่างดี นอกจากหนังกลางแปลงแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมาคนทุกรุ่นทุกวัย(อาจจะทุกสีด้วย)มาดูหรือมาทำกิจกรรมได้ งบประมาณก็ไม่ได้มากมายอะไร ทั้งยังเป็นงานที่ผู้คนมีส่วนร่วมได้มากด้วย ใครที่ติดตามหรือเที่ยวชมงานนี้มามากๆคงสาธยายเรื่องนี้ได้ดีกว่าผมเยอะ

แต่ที่ผมมาพูดเรื่องนี้ นอกจากต้องการแสดงความชื่นชมกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้จัดแล้ว ความจริงแล้วต้องการมาชวนคุยถึงแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบ้านการเมืองสักหน่อยครับ

ทราบกันมั้ยครับว่างานที่คุณชัชชาติกับทีมงานจัดกันมาทั้งเดือนนี้ อบต.หรือเทศบาลหรืออบจ.ทั่วประเทศไม่สามารถจัดได้เลย ไม่ใช่นายก อบต. นายกเทศมนตรี หรือนายก อบจ. ไม่รู้จักหนังกลางแปลง หลายคนน่าจะเคยดูหนังกลางแปลงมามากกว่าคุณชัชชาติตั้งเยอะและก็ไม่ใช่ว่าผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายไม่รู้จักกิจกรรมต่างๆหรือคิดสร้างสรรค์อะไรไม่เป็นกันทั้งประเทศ

แต่เป็นเพราะองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายถูกจำกัดอำนาจหน้าที่จนไม่สามารถจัดงานแบบนี้ได้ครับ

จากระเบียบของมหาดไทยกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและการตีความของ สตง. อบต. เทศบาลหรืออบจ.จะจัดงานบันเทิงหรือมหรสพได้ก็ต่อเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ เช่น สงกรานต์หรือลอยกระทง เป็นต้น แต่ในเทศกาลเหล่านี้จะจัดงานบันเทิงหรือมหสพได้เพียงวันเดียวคือวันหลักของเทศกาลนั้นๆ เช่นถ้างานลอยกระทงก็ต้องจัดเฉพาะวันลอยกระทง จะจัดในวันก่อนหรือหลังวันลอยกระทงไม่ได้

กฎระเบียบที่มีอยู่ยังจำกัดบทบาทและขอบเขตการทำงานขององค์กรปกครองท้องถิ่นในหลายด้านอย่างไม่น่าเชื่อ ที่เขาสะท้อนปัญหาให้ฟังก็เช่นจะส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ไม่ได้ จะจัดเสริมทักษะพัฒนาอาชีพ upskill -reskill หรือส่งเสริมการตลาดแบบดิจิทัลก็ไม่ได้ จะทำงานด้านสาธารณสุขก็ทำได้อย่างจำกัดเช่น ที่เคยมีปัญหาในเรื่องการฉีดยาป้องกันสุนัขบ้า เป็นต้น

ได้ยินคุณชัชชาติบอกว่าจะจัดกิจกรรมระดับประเทศที่เชิญคนทั่วโลกมาร่วมงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่สำหรับองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว คิดยังไม่กล้าคิด อบจ.เมืองท่องเที่ยวเคยคิดจะจัดกิจกรรมที่ดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกก็ถูกห้าม เทศบาลบางแห่งจะจัดแข่งขันฟุตบอลโดยเชิญทีมฟุตบอลจากอำเภอต่างๆในจังหวัดมาแข่งก็ยังถูกห้าม เจ้าหน้าที่สตง.บอกว่าเชิญได้เฉพาะทีมที่อยู่ในเขตเทศบาลเท่านั้น

ที่ผมยกตัวอย่างขึ้นมาเป็นเพียงบางส่วนของปัญหาเท่านั้น กฎระเบียบที่ล้าหลังคร่ำครึเหล่านี้ออกกันมาในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะช่วง 8 ปีมานี้การกระจายอำนาจถอยหลังมากในทุกด้าน คณะกรรมการกระจายอำนาจฯประชุมน้อยมากและไม่ได้ช่วยให้ส่งเสริมการกระจายอำนาจแต่กลับปล่อยให้รัฐบาลและราชการส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคดึงอำนาจหน้าที่และงบประมาณไปจากท้องถิ่นเสียจนแทบไม่เหลืออะไรที่ท้องถิ่นคิดเองทำเองได้

การที่ผู้ว่ากทม.ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นและกำลังทำงานเป็นที่พอใจของประชาชน จึงเป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะได้มาตรวจสอบประเมินกันว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศนั้นอยู่ในสภาพอย่างไรและจะช่วยกันผลักดันให้หลุดพ้นจากความถดถอยล้าหลังได้อย่างไร

ไปดูหนังกลางแปลงมานิดเดียวคุยเสียยาวเลย ชวนคุยเพื่อกิจกรรมที่สร้างสรรค์อีกมากมายจะได้เกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่างจังหวัดทั่วประเทศบ้างครับ