ปธ.หอค้า ชี้รัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ผ่านช่วยคนละครึ่ง-อุ้มเปราะบาง

ปธ.หอค้า ชี้รัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ผ่านช่วยคนละครึ่ง-อุ้มเปราะบาง

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา รักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2565 ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโครงการคนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 800 บาท ใช้จ่ายภายใน 2 เดือนหรือวันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 ว่า ในแง่เวลาที่กำหนดในแต่ละโครงการใช้จ่ายช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนั้น ถือว่าเหมาะสม เพราะช่วงนั้นค่าใช้จ่ายประชาชนจะสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การปรับค่าไฟฟ้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การร้องขอปรับค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าทั่วไปยังสูง และเงินเฟ้อทรงตัวสูง ประกอบกับรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

หลังรัฐคลี่คลายมาตรการต่างๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมามากขึ้น การเปิดประเทศ และนักท่องเที่ยวเข้าไทยต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจะได้มากกว่านี้อีก หากไม่ติดเรื่องเที่ยวบินและตั๋วโดยสารยังหาได้ยากและมีราคาแพง รวมถึงภาคส่งออกดีขึ้นต่อเนื่อง ตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมา ครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 12% แต่ในแง่เงินบาทขยายตัวถึง 20% ดังนั้น ที่ภาคเอกชนประเมินไว้ว่าส่งออกทั้งปี 2565 จะโตได้ 4-5% ตัวเลขใหม่อาจขยายตัวได้ 10% จะทำให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีประเทศไทยตามที่มองไว้เกิน 3% ได้

นายสนั่นกล่าวต่อว่า ในส่วนวงเงิน 800 บาท นั้น เชื่อว่ารัฐบาลต้องประเมินหลายด้านและคิดรอบด้าน โดยเฉพาะด้านงบประมาณภาครัฐ และบรรยากาศใช้จ่ายและเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนตัวมองว่ามาตรการที่ออกมาช่วงกันยายน-ตุลาคม เป็นทั้งการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ พร้อมกับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลับมาพีคของปี และค่าเงินอ่อนส่งผลดีต่อส่งออกไทยยังแข่งขันได้ดี

“เดิมนั้นเอกชนเราคิดว่าหมดหวังแล้ว จากที่เคยเสนอรัฐให้เติมเงินหรือขยายโครงการคนละครึ่ง และเติมเงินให้ผู้มีปัญหาแท้จริงๆ ซึ่งการต่อโครงการเพิ่มเงินให้กับคนมีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางอย่างน้อยคนละ 100 บาทต่อวัน ช่วยประชาชนประหยัด 800 บาท ก็จะช่วยค่าครองชีพในช่วง 2 เดือนนั้นที่ยังอาจฟื้นไม่ได้เต็มที่ เพราะเป็นช่วงที่มีต้นทุนเพิ่มจากการปรับค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ก็จะมีเงินนี้มาช่วยเหลือได้บางส่วน ไม่ทำให้เศรษฐกิจชะงักช่วงนั้น เช่น จากปรับขึ้นดอกเบี้ย ค่าไฟค่าพลังงานอาจสูงขึ้น ซึ่งเงินที่รัฐใช้ครั้งนี้เกือบ 3 หมื่นล้านบาท รวมกับเงินสมทบใช้จ่ายประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ก็จะเกิดสะพัดในระบบหลายหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาทได้ และส่งผลต่อจีดีพีโตได้อีก 0.1% และอาจเป็นไปได้ที่อาจไม่มีโครงการแบบนี้อีก หากปลายปีเศรษฐกิจ การใช้จ่าย และเกิดปัจจัยเสี่ยงใหม่ออกมาอีก” นายสนั่นกล่าว