พลิกปมสั่งเด้ง ผอ.พศ. ก่อน ครม.คืนตำแหน่ง เปิดคำสั่งแก้วิกฤตสงฆ์ ห้ามเฟซบุ๊ก-วัตถุมงคล [อาชญากรรม]

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตในวงการพระพุทธศาสนา

สำหรับกรณีที่ ครม. มีมติเด้งฟ้าผ่า พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ จากตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ

ท่ามกลางกระแสข่าวชี้ว่า ต้นเหตุคือความไม่พอใจจากพระเถระผู้ใหญ่ ในมหาเถรสมาคม

ไล่ตั้งแต่บทบาทกรณีการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย และการตรวจสอบเงินทอนวัด

ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่จบลงง่ายๆ เมื่อเจ้าตัวทำหนังสือไม่ยอมรับคำสั่ง

เป็นผลให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแล ต้องออกมายืนยันว่าเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ย้ายได้แน่นอน

แต่แล้วผ่านไปเพียง 1 เดือน ครม. ก็มีมติย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร กลับมาเป็น ผอ.สำนักพุทธฯ เหมือนเดิม

ภายใต้ข่าวลือมีแบ๊กอัพระดับอดีตรัฐมนตรีคอยหนุนหลัง

ตามมาด้วยการสั่งจัดระเบียบครั้งใหญ่โดยคำสั่งของเจ้าคณะปกครองสงฆ์เอง

จนเป็นสิ่งที่น่าจับตาการเปลี่ยนแปลงวงการสงฆ์ไทย

ครม. ปลด “พงศ์พร” พ้น พศ.

ชนวนความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติ ครม. ระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เสนอเรื่องที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ขอรับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักพุทธฯ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ

พร้อมแต่งตั้งให้ นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนามาดำรงตำแหน่งแทน

แต่แทนที่การโยกย้ายจะราบรื่น กลับเกิดอุปสรรคขึ้นมา เมื่อ พ.ต.ท.พงศ์พร ทำหนังสือลงวันที่ 6 กันยายน ถึง นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักพุทธฯ ชี้แจง 7 ข้อไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว

โดยระบุว่า

1. การรับโอนและการให้ไปช่วยราชการข้างต้น ไม่ได้เป็นไปตามความรู้เห็นหรือความสมัครใจ

2. เมื่อมติ ครม. มีผลให้พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉะนั้น ตนยังอยู่ในตำแหน่ง จนกว่าจะเข้าเงื่อนไข

3. การขอและให้ยืมตัวไปช่วยราชการ อาจขัดมติ ครม. และกระทบพระราชอำนาจ

4. การอนุมัติยืมตัว อาจทำให้สำนักพุทธฯ เสียหาย เนื่องจากเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ขณะที่รองหัวหน้าส่วนเพียงคนเดียวใกล้เกษียณอายุราชการ

5.การไปช่วยราชการไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่ทำให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่

6. การปฏิบัติตามคำสั่งที่อ้าง อาจทำให้เกิดการปฏิบัติราชการโดยปราศจากกฎหมาย ทำให้ราชการเสียหายร้ายแรงได้

และ 7. การแจ้งไปช่วยราชการ ยังมิได้กระทำโดยผู้บังคับบัญชา คือปลัดสำนักนายกฯ

อย่างไรก็ดี หลังจากหนังสือดังกล่าว นายออมสินระบุชัดเจนว่า การไม่รับคำสั่งผู้บังคับบัญชาคงไม่ได้ เมื่อปลัดสำนักนายกฯ ทำหนังสือขอยืมตัว ตนในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็อนุมัติไป

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ยืนยันว่าการขอตัวช่วยราชการ ไม่ต้องได้รับการยินยอม เป็นเรื่องผู้บังคับบัญชา หากต้องการความละมุนละม่อม ก็อาจสอบถาม แต่จะให้ไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณา

ขณะที่ นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกฯ มีคำสั่งมอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์พร รับผิดชอบเขตตรวจราชการพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล

เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้โดยตรง

ย้ายกลับที่เดิม-ในเดือนเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงเดือน พล.ท.สรรเสริญ ก็แถลงมติ ครม. อีกครั้งเมื่อวันที่ 26 กันยายน ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอของนายออมสิน ที่เสนอเรื่องเกี่ยวกับการโอนย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร ไปช่วยราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

โดยระบุว่า มติดังกล่าวยังไม่ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ โดยอยู่ระหว่างการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ พล.อ.ประยุทธ์จึงสั่งให้หน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างสำนักพุทธฯ กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งดำเนินการแก้ไขไปได้ในระดับที่น่าพอใจ

ประกอบกับ พ.ต.ท.พงศ์พร ไม่ได้มีความผิดประการใด อีกทั้งในช่วงที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ปรึกษาหารือเพื่อปรับแผน กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องต้องกันกับภารกิจ

ที่ประชุม ครม. จึงเสนอให้ พ.ต.ท.พงศ์พร กลับไปปฏิบัติหน้าที่ ผอ.พศ. เหมือนเดิม ส่วนของนายมานัส ก็ให้กลับไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาเหมือนเดิม

พร้อมกำหนดให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักพุทธฯ แทน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ อีกด้วย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ที่ต้องเอาตัว พ.ต.ท.พงศ์พร ออกมา เพื่อคุยกัน จัดระบบกัน ว่าเราจะทำเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างไร เมื่อวางแผนแม่บทกันเสร็จ ก็ให้กลับไปทำหน้าที่เดิม ไม่มีความผิดอะไรทั้งสิ้น

อย่ามาหาว่ารัฐบาลโลเลกลับไปกลับมา เพียงแต่ช่วงนั้นมีปัญหาก็เอาออกมาเสียก่อนเพื่อให้เกิดความสงบ เดี๋ยวเอากลับเข้าไปทำใหม่ ก็จบแค่นั้น ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ ไม่มีวิธีอื่น อย่าไปขยายความกันอีก ต้องรู้จักทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่อย่างนั้นก็ไปไหนไม่ได้

เป็นคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี

ท่ามกลางกระแสลือว่ามีบิ๊กระดับอดีตรัฐมนตรีอยู่เบื้องหลัง!??

พระเถระสั่งจัดระเบียบสงฆ์

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มีคำสั่งจากพระเถระ และเจ้าคณะปกครองหลายระดับ ทั้งจากเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ หนใต้ หนกลาง หนตะวันออก ส่งถึงวัดต่างๆ เพื่อแก้วิกฤตศาสนา

ให้วัดต่างๆ ในพื้นที่ ดูแลภิกษุสามเณรให้อยู่ในธรรมวินัย งดการกระทำที่ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา

พร้อมกำหนดข้อห้ามที่สำคัญ คือเรื่องเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ก ห้ามกดไลก์ กดแชร์ โพสต์ภาพ รวมถึงเผยแพร่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ

ห้ามวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม ส่อยั่วยุ ปลุกปั่น ก้าวร้าว กระทบกระเทือนความมั่นคงต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชน

โดยก่อนหน้านี้ ก็มีกรณีของพระมหาอภิชาติ ปุณณจนฺโท พระวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร ที่มีบทบาทในการโพสต์เฟซบุ๊กในประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องศาสนา ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม บุกเข้าพูดคุยถึงในวัด เมื่อวันที่ 19 กันยายน

ก่อนที่ช่วงเย็นวันที่ 20 กันยายน พระมหาอภิชาติ จะขอลาสิกขา พร้อมเปิดใจผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้งว่า การลาสิกขาครั้งนี้กระทำด้วยความสมัครใจ และขอโทษสถาบันสงฆ์ที่ทำสิ่งไม่เหมาะสม และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาให้สติ ให้เวลา ให้พื้นที่ ให้โอกาส ให้ตนได้คิดทบทวนในสิ่งต่างๆ ที่ทำลงไปอย่างถี่ถ้วน

พร้อมทั้งกราบขอโทษสังคม ประเทศชาติ และประชาชน และสถาบันสงฆ์ เมื่อย้อนอ่านข้อความ ดูคลิปวิดีโอของตัวเองก็รู้สึกผิดบาป เสียใจ การที่ปากบอกว่าพูดและทำเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม

ที่ผ่านมาตนหลงผิดไปทั้งหมด แม้จะบวชเรียนมามาก ขาดสติ หลงตัวเอง โทสะ โมหะ จึงขอกราบขอขมาพี่น้องชาวมุสลิม และพระศาสดา ที่ได้ล่วงเกิน

ต่อจากนี้ขอใช้เวลาและโอกาสในชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ ฝึกอบรมตัวเองใหม่ และขอกลับคืนสังคมด้วยการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแท้จริง

และขอให้กรณีของตนเป็นเครื่องเตือนสติ เป็นอุทาหรณ์สอนใจ

ห้ามค้าวัตถุมงคลด้วย

นอกจากนี้ คำสั่งของพระเถระ ยังห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล เทวรูป อ้างอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ สรรพคุณเกจิอาจารย์ ห้ามขึ้นป้ายงานพุทธาภิเษก รวมถึงพิธีปลุกเสก ห้ามจำหน่ายวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังในอุโบสถ ห้ามจำหน่ายรูปเหมือน รูปปั้นและเหรียญเทพเจ้าต่างๆ ห้ามเรี่ยไร ตั้งแผงพระ วัตถุมงคลในงานประเพณี

ห้ามแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องเพศกำเนิด

ห้ามเดินทางไปในสถานที่อโคจร ไม่ควรแก่บรรพชิต

ห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารผิดกาลเทศะ

ห้ามมีความประพฤติไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ย่ามและรองเท้าที่ไม่ใช่ของสงฆ์ เป็นต้น

พร้อมกับมีคำสั่ง ให้เก็บ ปลด รื้อป้ายโฆษณาวัตถุมงคล พระพุทธรูป พระเครื่องที่มีอยู่เดิมออก

ให้พระสังฆาธิการตรวจสอบ กวดขัน ควบคุมพฤติกรรมและลงโทษภิกษุสามเณรในปกครองหากมีความประพฤติไม่เหมาะสม ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองและ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ รวมถึงมติมหาเถรสมาคม

ให้พระสังฆาธิการว่ากล่าว ตักเตือน ภิกษุสามเณรให้ประพฤติตามธรรมวินัย

หากพระสังฆาธิการพยายามดำเนินการตามพระธรรมวินัยและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายคณะสงฆ์แล้วแต่ไม่สามารถบังคับได้ ให้ประสานหน่วยราชการขอการสนับสนุนและอารักขา

ทั้งนี้ หากไม่กระทำตามคำสั่ง ให้พระสังฆาธิการประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามกฎหมาย

หากภิกษุสามเณรรูปใดประพฤติตนเข้าข่ายละเมิดธรรมวินัย ให้พระสังฆาธิการลงโทษตามพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์โดยเคร่งครัด

ถ้าพระสังฆาธิการรูปใดย่อหย่อนการสำรวจ ตรวจสอบ กวดขันต่อภิกษุสามเณร ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ

ฉับพลันทันใด หลังจากคำสั่งดังกล่าว ปรากฏว่าพระเกจิชื่อดัง อาทิ เจ้าคุณธงชัย แห่งวัดไตรมิตรฯ ต้นตำรับผ้ายันเลสเตอร์ ก็เก็บวัตถุมงคลออกจากวัด เพื่อไปปลีกวิเวก ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดทันที

เป็นจุดเริ่มต้นการจัดระเบียบสงฆ์ที่น่าติดตาม!!