“สภาพัฒน์” เตรียมหารือหน่วยงานศก.รับมือผลกระทบเงินเฟ้อสหรัฐ-บาทอ่อนค่า

“สภาพัฒน์” เตรียมหารือหน่วยงานศก.รับมือผลกระทบเงินเฟ้อสหรัฐ-บาทอ่อนค่า เผยยังมั่นใจปีนี้จีดีพีโต 3% ส.ค.คิกออฟกระจายงบหมื่นล้าน

 

วันที่ 17 กรกฎาคม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่านั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่ากระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหารือร่วมกันว่า จะมีการเตรียมรับมืออย่างไร แม้จะมีการมอนิเตอร์เงินเฟ้อเป็นรายเดือนอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) จากภาวะราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลายและเข้าที่ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพราะไทยเคยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงสุด 9% มาแล้วเมื่อปี 2551

“วันนี้ยังคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะยังอยู่ในกรอบ 3% แต่ต้องรอดูเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังด้วย เพราะยังมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงรอดูตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ที่สภาพัฒน์ฯจะประกาศในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ด้วยเช่นกัน”นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเงินกู้จำนวน 74,000 ล้านบาท ที่ยังเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในส่วนของโครงการเศรษฐกิจฐานรากกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจ้าของโครงการอยู่ระหว่างจัดซิ้อจัดจ้างจะใช้เวลา 1-2 เดือน ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มงานก่อสร้างได้บางส่วน โดยแต่ละโครงการใช้เวลา 3-6 เดือน ทำให้เม็ดเงินส่วนนี้จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลังได้ระดับหนึ่ง

“ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 48,000 ล้านบาท เตรียมไว้สำหรับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับช่วยเหลือประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลมาตรการการเงินที่ออกไปก่อนหน้านี้ ส่วนคนละครึ่งจะมีหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลไทยออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเยอะที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน “นายดนุชากล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 สภาพัฒน์ฯ จะเสนอครม. เพื่อขออนุมัติโครงการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ และชุดตรวจเอทีเค วงเงิน 3,995 ล้านบาท