“จาตุรนต์” แนะ “ประยุทธ์” หัดฟังเสียงคนเดือดร้อน-ผู้เชี่ยวชาญ แก้ไขค่าครองชีพแบบมียุทธศาสตร์

อดีตรองนายกฯ แนะนายกฯ บรรเทาความเดือดร้อนจากเงินเฟ้อ-ของแพงย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่ซ้ำเติมให้หนักขึ้น

 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอาหาร น้ำมัน จนถึงค่าไฟฟ้าที่จะมีการปรับค่าผันแปรหรือค่าเอฟทีเพิ่มอีกว่า

ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะปรับขึ้นค่าเอฟที จนทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มเป็น 5 บาทต่อหน่วย โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนแต่อย่างใดนั้น แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้นอกจากไม่รับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ในการรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ของแพงและค่าครองชีพสูง ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในปัจจุบันขณะนี้

ปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพสูง เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อกันและกัน ถ้าค่าครองชีพสูงมากอัตราเงินเฟ้อก็ยิ่งสูงและเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงมาก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้น

ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไทยเกิดจากการที่ต้นทุนโดยเฉพาะน้ำมันและพลังงานที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น การจะประคองราคาน้ำมันและก๊าซไว้นานๆไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าใช้มาตรการทางภาษีก็อาจจะพอทำต่อไปได้เพราะรัฐบาลไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา แต่ถ้าใช้ระบบกองทุนน้ำมัน รัฐบาลก็ต้องไปกู้มาชดใช้หนี้ของกองทุนน้ำมันที่นับวันจะเป็นภาระมากขึ้น
เมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้ บางประเทศก็จะใช้วิธี ช่วยเหลือกลุ่มบุคคลที่มีความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน ซึ่งประเทศไทยยังไม่ค่อยได้ทำ และกลับทำสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น

ก่อนหน้านี้ ก็แก้ปัญหารถโดยสารประจำทางลดเที่ยววิ่งด้วยการให้ขึ้นค่าโดยสาร ตอนนี้กำลังจะขึ้นค่าไฟอีก ทั้งๆที่จริงแล้ว ควรจะตรึงราคาค่าไฟไว้ หรือกระทั่งลดค่าไฟสำหรับสำหรับคนยากคนจนโดยอาจจะลดค่าไฟในยูนิตแรกๆแล้วค่อยๆไต่บันไดสูงขึ้นมาจนเท่าค่าไฟตามปกติ

ส่วนรถโดยสารทั่วประเทศนั้น ไม่ควรให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้น จะใช้วิธีช่วยผู้ประกอบการหรือช่วยตรงไปที่ผู้โดยสารผ่านระบบเป๋าตังก็ได้ การทำให้ค่าโดยสารรถประจำทางและรถเมล์ถูก จะทำให้มีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นและใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งของประชาชนแต่ละคนและของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ด้วย

การตรึงค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะยังควรใช้กับรถไฟทั่วประเทศด้วย

อย่างน้อยก็ไม่ควรให้มีการขึ้นค่าตั๋วและถ้าถึงจุดที่ประชาชนเดือดร้อนมากๆก็อาจจะต้องยอมลดค่าตั๋วหรือให้คนยากจนใช้รถไฟฟรี

นอกจากนี้ ในส่วนของกรุงเทพ รัฐบาลควรจะหาทางส่งเสริมให้มีคนใช้รถบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที (รถไฟใต้ดิน) มากขึ้นโดยเก็บค่าโดยสารเท่าเดิมหรือถูกลง เช่นอาจจะทำความตกลงกับผู้ประกอบการลดค่าโดยสาร ในช่วงที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งรีบ (rush hours) ลงบ้าง เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถไฟฟ้าจะทำให้สามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ด้วย
พลเอกประยุทธ์ ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า

ขณะที่ประชาชนกำลังเจอกับปัญหาเงินเฟ้อของแพงค่าครองชีพสูงอยู่นี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการอะไรที่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้เลย 8 มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ช่วยเหลือประชาชนได้น้อยมาก

ส่วนโครงการใหญ่ที่เป็นสามแกนหลักก็ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในขณะนี้แต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำรัฐบาลยังปล่อยให้ค่าครองชีพต่างๆสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งๆที่มีวิธีที่จะแก้ปัญหาได้

หากพลเอกประยุทธ์เลิกอ่านโพยที่ฝ่ายความมั่นคงเขียนให้แล้วหันมาปรึกษาหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจและภาคเอกชนกับรับฟังประชาชนบ้าง ก็จะมองเห็นยุทธศาสตร์ในการรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อของแพงค่าของชีพสูงได้ดีกว่านี้