กรมสุขภาพจิต แนะวิธีเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเก๋า

กรมสุขภาพจิต แนะวิธีเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยเก๋า ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ วันสุดท้าย

 

ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้มนุษย์มีสุขภาพแข็งแรง และมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากในอดีต จึงทำให้อัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้น ควรต้องมีการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เพื่อที่เมื่อถึงวัยนั้น จะได้ปรับตัวและอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งกายใจ

วันที่ 3 กรกฎาคม ในงาน Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ จัดโดยเครือมติชน ซึ่งเป็นงานแฟร์สุขภาพครั้งใหญ่แห่งปี นันทาวดี วรวสุวัส ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้มาเผยวิธีเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ในหัวข้อ Happy Pre-Aging สุข สดใส ก่อนวัยเก๋า’ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังจำนวนมาก

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต เผยว่า การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพการเงินหรือเศรษฐกิจ โดยกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถานประกอบการหลายแห่ง  สำรวจพบว่า วัยทำงานมีความเครียดจากปัญหาหลายอย่าง กรมสุขภาพจิตจึงหาแนวทางแก้ปัญหาให้ประชาชน เพื่อแบ่งเบาและบรรเทาความเครียด

“การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อทำงานจนเกษียณอายุ ภาระงานหรือตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่เคยทำ ก็จะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งบางคนอาจยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่การงานมากจนเกินไป ยังมีความคิดว่าตนเองยังมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ ดังนั้นก่อนจะเกษียณตนเองออกมา ต้องมีการยอมรับและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต บอก

แล้วเพิ่มเติมว่า การวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อวางแผนจะทำให้สามารถมองเห็นแนวทางการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต เช่น การกลับไปอาศัยอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ทำไร่ทำสวน เป็นต้น รวมถึงพยายามหากิจกรรมที่ทำให้ตนเองต้องออกจากบ้านอยู่เสมอ อาทิ การออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือเล่นกีฬา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข และรู้สึกว่าอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

“เมื่อผู้สูงอายุเกษียณจากงาน มักคิดว่าตนเองว่างงาน และจมอยู่กับตนเอง จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดจากสารในสมองที่หลั่งผิดปกติ และเมื่อพบปัญหาใดๆ ก็ตามที่เข้ามาในชีวิต แม้แค่เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้คิดวิตกกังวลได้

“วิธีการรักษาเมื่อผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คือ เข้ารับการรักษา และรับประทานยา จะช่วยปรับเซลล์สมองในร่างกายให้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ และพยายามอย่าใช้คำพูดที่บั่นทอนจิตใจของผู้ป่วย เช่นคำว่า สู้ๆ เพราะผู้ป่วยจะคิดว่าตนเองสู้ไม่ไหว ไม่มีแรงจะสู้ต่อ ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิม ต้องมีวิธีการเปลี่ยนคำพูดใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและรู้สึกแสดงถึงความห่วงใยมากมากขึ้น เช่น ถามว่ารู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง เหนื่อยไหม หรือมีอะไรสามารถพูดกับลูกได้นะ เป็นต้น”       

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหตุผลในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น เกิดจากผู้สูงอายุมองว่าตนเองมีโรคประจำตัว คงอยู่ไม่ได้นาน มองว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัว รวมถึงมองว่าลูกๆ ไม่ได้เต็มใจที่จะดูแลตนเอง จนทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

“ดังนั้น จึงอยากฝากบุตรหลานหากผู้สูงอายุพูดว่าตนเองอยากฆ่าตัวตาย ให้คอยเฝ้าระมัดระวัง ดูแลเอาใจใส่เพิ่มมากขึ้น และพยายามพูดคุยสร้างกำลังใจให้ผู้สูงอายุมีคุณค่าในตนเอง และอยากมีชีวิตอยู่ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพาผู้สูงอายุไปปรึกษากับแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการรักษาและดูแลผู้สูงอายุต่อไป” ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ปิดท้าย

‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ จัดขึ้นถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30-20.00 น. มีกิจกรรมตรวจสุขภาพฟรีจาก 14 โรงพยาบาลชั้นนำทั้งรัฐและเอกชน จัดแสดงนวัตกรรมเด็ดๆ ที่ช่วยให้ทุกคนใช้ชีวิตง่ายขึ้น กิจกรรมมากมายบนเวที ที่มอบทั้งสาระความรู้และความเพลิดเพลิน เวิร์กชอปสุขภาพ และกิจกรรมสอยดาว มอบรายได้เข้าการกุศล เดินทางมาร่วมงานได้ง่ายๆ ด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2