ก้าวไกล ซัด สพฐ.ชุ่ย! หรือจงใจส่งเอกสารผิดปีให้กรรมาธิการงบประมาณปี 2566

ก้าวไกล ซัด สพฐ.ชุ่ย! หรือจงใจส่งเอกสารผิดปีให้กรรมาธิการงบประมาณปี 2566 

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดนครปฐม และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับนักข่าวถึงเรื่องราวสุดชุ่ยที่ปรากฏในกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการงบประมาณฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หน่วยงานที่สำคัญและได้รับจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 250,000 ล้านบาท อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการด้านการศึกษาฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 โดยในที่ประชุม ตนเองมีการสอบถามถึงรายละเอียดงบประมาณที่ขอจัดสรรเพื่อซื้อเครื่องดนตรีต่างๆ แจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โรงเรียนละ 2 แสนบาท ถึงสเปกและราคากลาง แต่ทางเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายอัมพร พินะสา ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ ท้ายที่สุด อนุกรรมาธิการด้านการศึกษาฯ ได้ “แขวน” ไว้ก่อน โดยจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 หน่วยงาน สพฐ. ได้เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร โดยในที่ประชุม นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณฯ มีการสอบถามเรื่องราวดังกล่าวอีกครั้ง แต่ทางเลขาธิการ สพฐ. ก็ยังไม่สามารถตอบได้ นพ.วาโยฯ จึงสอบถามทางสำนักงบประมาณ และได้คำตอบว่า สพฐ. ไม่ได้ตั้งคำขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องดนตรีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่อย่างใด! ทำให้โป๊ะแตกว่า สพฐ. ส่งเอกสารรายละเอียดงบประมาณให้กรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการฯ ผิดปี โดยเฉพาะในส่วนเล่มที่ 3/12 ซึ่งผิดทั้งเล่ม แต่จากการตรวจสอบต่อมาพบว่า ไม่น่าจะผิดแค่เล่มเดียว อาจจะผิดหมดทั้ง 12 เล่ม เพราะมาจากไฟล์ PDF เดียวกัน ซึ่งมีจำนวน 1,717 หน้า โดยรายละเอียดภายในเป็นรายละเอียดของคำขอจัดสรรงบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ เมื่อปีก่อน ทางอนุกรรมาธิการฯ ในเรื่องเดียวกันได้ปรับลดงบประมาณในส่วนเครื่องดนตรี โดยเฉพาะเครื่องเป่าต่าง ๆ ออก เนื่องจากมีความกังวลว่าอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โควิดฯ ที่เป็นอยู่

 

“แต่เจ้าหน้าที่ของ สพฐ. ได้แจ้งกับเราว่า เด็ก ๆ ต่างเสียใจที่ไม่ได้รับจัดสรรให้ซื้อเครื่องดนตรี ปีนี้อย่าตัดเลย โดยส่วนตัวก็เห็นใจเด็ก ๆ ในฐานะที่เรียนจบทางด้านดนตรีมาก็ยิ่งเข้าใจ และอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้เด็ก ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางดนตรี เนื่องจากทราบว่าปีที่แล้วมีการตัดออกทั้งหมด ดังนั้น ในปีนี้จึงอยากให้มีการจัดสรรงบเพื่อซื้อเครื่องดนตรี แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนในส่วนของราคากลาง เนื่องจากเครื่องดนตรีเป็นครุภัณฑ์ที่สำนักงบประมาณไม่ได้จัดทำรายการราคากลางไว้ จึงต้องขอรายละเอียดจากหน่วยงานที่ขอรับจัดสรรโดยตรง แต่ สพฐ. กลับไม่สามารถหามาให้ได้ แล้วยังมาโป๊ะแตกในห้องใหญ่ (กรรมาธิการงบประมาณฯ) ว่าจริง ๆ แล้วไม่มี เพราะไม่ได้ยื่นคำขอซื้อเครื่องดนตรีมาเลยในปีนี้ แล้วที่ สพฐ. บอกในห้องอนุฯว่า เด็ก ๆ เสียใจ ปีนี้อย่าตัดเลย แต่ตัวเองกลับไม่ได้ยื่นคำขอมา แล้วเอาคำขอของปีก่อนมาเสนอต่อกรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการฯ แบบนี้จะเรียกว่าชุ่ย หรือจริง ๆ จงใจทำให้เกิดความสับสนกันแน่” นอกจากนี้

สุทธวรรณฯ ยังทิ้งท้ายอีกว่า “แล้วตอนเราถาม ก็ตอบเหมือนกับว่าตัวเองของบเครื่องดนตรีมา คือไม่รู้เลยว่าตนเองไม่ได้ขอ แต่คนที่รู้และตอบได้ทันทีโดยที่ยังไม่ต้องดูเอกสารด้วยซ้ำว่า สพฐ. ไม่ได้ยื่นคำขอจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องดนตรีมา คือ นายกรณินทร์ กาญจโนมัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการจัดทำงบประมาณที่ต่างกันฟ้ากับเหว ทั้ง ๆ ที่รอง ผอ.สำนักงบฯ ต้องดูเอกสารงบประมาณจำนวนหลายหน่วยงานมาก แต่นายอัมพรฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ สพฐ. ดูเอกสารงบประมาณแค่หน่วยงานของตนเพียงหน่วยงานเดียว กลับปล่อยปละละเลยได้ขนาดนี้ แล้วพวกเราจะไว้ใจให้ดูแลงบประมาณระดับ 250,000 ล้าน และดูแลเด็ก ๆ ในระดับชั้นก่อนอุดมศึกษาทั้งประเทศหลายแสนหลายล้านคนได้อย่างไร ความผิดพลาดครั้งนี้ส่งผลเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการพิจารณางบประมาณแผ่นดินอย่างมาก เพราะกว่าที่เอกสารความหนาเป็นเมตร จะผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนเข้ามาถึงห้องกรรมาธิการฯ หรืออนุกรรมาธิการฯ ได้ ต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน แต่ท้ายที่สุด เอกสารที่ถูกส่งเข้ามาในวันพิจารณา จะมาจากทาง สพฐ. Print และนำมาส่งเอง แบบนี้ไม่แน่ใจว่า เกิดจากความผิดพลาดโดยประมาท หรือเป็นการจงใจส่งเอกสารผิด ๆ ให้กรรมาธิการฯ และอนุกรรมาธิการฯ อย่างไรก็ตาม หวังว่าในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เมื่อ สพฐ. กลับเข้ามาที่ห้องอนุฯ เพื่อรับการพิจารณาอีกครั้ง เราจะได้รับคำตอบจากท่านเลขาฯ สพฐ. อย่างกระจ่างแจ้ง”