PNKG ชวนรู้จักโรคพาร์กินสัน พร้อมเผยกลยุทธ์ฟื้นฟูแบบญี่ปุ่น ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ 

PNKG ชวนรู้จักโรคพาร์กินสัน พร้อมเผยกลยุทธ์ฟื้นฟูแบบญี่ปุ่น ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ 

อาการหยิบของช้า เดินช้า ไม่แสดงสีหน้า มีอาการสั่น มีปัญหาในการเดิน หลายคน อาจคิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ ทว่าความจริง อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่สามารถนำไปสู่ภัยเงียบต่อคนในครอบครัวได้ ซึ่งโรคพาร์กินสันมักพบมากในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราส่วน 1 ต่อ 400 ราย

เพื่อร่วมทำความเข้าใจผู้ป่วยพาร์กินสัน และรู้จักวิธีไคโกโดะ กลยุทธ์ฟื้นฟูแบบฉบับญี่ปุ่น PNKG Recovery Center ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงจัดเวทีเสวนา ‘อย่าให้ชีวิตสั่นเพราะพาร์กินสัน กับแนวทางการฟื้นฟูและดูแลรักษาแบบญี่ปุ่น’ ในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย

โดยมี มิสเตอร์ยูกิ ฟุรุยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center ร่วมกับ นพ.สุรชา ลีลายุทธการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ และ Co-ordinator ศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน มาเผยถึงเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน เทคนิคฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงเวิร์กชอปสั้นๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้เองที่บ้าน

พาร์กินสัน โรคที่มากกว่าสั่น เพราะเป็นภัยเสี่ยงผู้สูงวัย

นพ.สุรชาเผยว่า พาร์กินสัน เป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง เป็นโรคที่เกี่ยวพันกับความเสื่อมชราของร่างกาย โดยเมื่อคนเราอายุเกิน 60 ปี สมองจะผลิตสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขได้น้อยลง ซึ่งสารนี้เป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแบบละเอียดภายในร่างกาย อาทิ การหยิบจับสิ่งของ การเขียนหนังสือ โดยอาการของพาร์กินสันจะมีตั้งแต่เคลื่อนไหวช้า มีอาการเกร็ง สั่นขณะพัก และเสียการทรงตัว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี จะไม่มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสัน เพราะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย สามารถเกิดโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่ทางการแพทย์เรียกว่า ‘พาร์กินสันเทียม’ ได้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงจากยาบางกลุ่ม โรคหลอดเลือดสมอง หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับโรคพาร์กินสันได้

“เมื่อทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคพาร์กินสัน เนื่องมาจากความเสื่อมในสมอง  สิ่งสำคัญที่สุดจึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว การหมั่นออกกำลังกาย เน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดในแต่ละวัน เป็นวิธีการป้องกันพาร์กินสันที่ดีที่สุด

“การรักษาโรคพาร์กินสัน ต้องทำควบคู่กันสองประการ คือ การใช้ยา ควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด ซึ่งช่วยเรื่องการป้องกันการทรงตัวไม่ให้ล้ม รวมถึงช่วยทำให้สมองหลั่งโดพามีนเพิ่มขึ้น เพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง”

การบำบัดแบบพึ่งตัวเองได้ด้วยเทคนิค Kaigo-Do 

จากงานวิจัยพบว่า แท้จริงแล้วการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน สิ่งสำคัญคือการบริหารสมอง ควบคู่ไปกับการกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ

“ปัญหาของการกายภาพบำบัดคนที่เป็นพาร์กินสัน มักเกิดขึ้นจากคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเดินนั้นต้องโฟกัสที่เท้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะความจริงกล้ามเนื้อสะโพก ท้อง และหลัง ต่างเป็นกล้ามเนื้อมัดสำคัญ ที่ทำงานร่วมกันในการเดินของมนุษย์ จึงต้องฝึกกล้ามเนื้อ ท้อง หลัง สะโพก ร่วมกับการกายภาพบำบัดทุกครั้ง” มิสเตอร์ยูกิ ฟุรุยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center กล่าวถึงเทคนิคฟื้นฟูผู้ป่วย

แนวทางการรักษาของศูนย์ PNKG Recovery Center จากประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการผสมผสานการทำงานของร่างกายและสมองเข้าด้วยกัน โดยใช้วิธีการรักษาแบบไคโกโดะ (Kaigo-Do) วิธีการฟื้นฟูร่างกายแบบฉบับญี่ปุ่น ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก โดยมีผู้ดูแลคอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด และจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย เฉพาะสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเท่านั้น

อาทิ การฝึกกายภาพบำบัดด้วยการนำเครื่องให้จังหวะ Metronome ที่ใช้ในการซ้อมดนตรีมาพ่วงกับการเดิน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้ใช้สมองในการรับฟัง ได้คิดมีสมาธิในการเดินไปพร้อมกับเสียงประกอบจังหวะที่เกิดขึ้น

รวมถึงการเพิ่มการใช้สมองส่วนการมองเห็น ทำงานควบคู่กับการมอง ด้วยการกำหนดเส้นทางการเดินด้วยอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เทปสี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มข้อมูลเข้าไปในสมองในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทำให้สมองค่อยๆ จดจำว่าการเดินนั้นต้องทำอย่างไร

ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center ยังแนะนำอีกว่า ถ้าฝึกซ้อมที่บ้าน ให้นำสิ่งกีดขวางภายในบ้านออกระหว่างการฝึกซ้อม ทำพื้นที่เดินให้กว้างขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ป่วยเห็นสิ่งกีดขวาง เขาจะรู้สึกไม่มั่นใจในการเดินพอ และเมื่อไม่เดิน ร่างกายก็จะยิ่งไม่แข็งแรง

นอกจากการให้ความรู้ วิธีการป้องกัน รวมถึงวิธีการดูแลรักษา ที่วิทยากรมากความสามารถนำมาให้ความรู้กับทุกคนแล้ว เวทีเสวนายังมีเวิร์กชอปสั้นๆ ให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกไปพร้อมกันกับท่าบริหารร่างกาย บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสัน ทั้งท่ายืน ท่านอน ท่านั่ง ที่สามารถนำกลับไปฝึกได้เองเบื้องต้น

ก่อนอำลาเวที นพ.สุรชา ทิ้งท้ายว่า ศูนย์ PNKG Recovery Center จึงเป็นมากกว่าศูนย์ฟื้นฟูร่างกาย เพราะที่ศูนย์แห่งนี้เน้นวิธีการรักษาด้วยวิธีการฟื้นฟูแบบฉบับญี่ปุ่น คือ การรักษาแบบไคโกโดะ (Kaigo-Do) ที่ออกแบบแผนการฟื้นฟูรายบุคคลร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญ จากทั้ง รพ.พริ้นซ์และญี่ปุ่น ทั้งนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ แพทย์ พยาบาล ทีมนักดูแล นักจิตวิทยา และญาติผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง และมีความสุข

“หากถามว่าต่างจากกายภาพบำบัดอย่างไร ศูนย์นี้เน้นการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะสอน คือ การช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลตัวเองได้ เพื่อให้เกิดคุณค่าในการใช้ชีวิตต่อไป”   

‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย ทั้งการตรวจสุขภาพฟรี จาก 14 โรงพยาบาลชั้นนำทั้งรัฐและเอกชน นวัตกรรมเด่นๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนทุกวัยง่ายขึ้น ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ กิจกรรม Lucky Star สอยดาว ได้โชค รายได้มอบแก่การกุศล รวมทั้งกิจกรรมบนเวทีที่มอบสาระความรู้และความเพลิดเพลิน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30 – 20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2