‘ไทยสร้างไทย’ ชี้ อาเซียน-จีนต้องสร้างความรุ่งเรืองร่วมกันรับระเบียบโลกใหม่

ธิดารัตน์ ไทยสร้างไทย ร่วมเสวนาความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ชี้ต้องสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันรับระเบียบโลกใหม่

 

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย เข้าร่วมเสวนาในงาน “ผู้นำรุ่นใหม่ไทย” กับประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกัน อาเซียน-จีน ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมืออาเซียน-จีนในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ไทย” เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) เพื่อการพัฒนาระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งจัดขึ้นโดย China International Communication Group (CICG) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเสนอให้ภูมิภาคอาเซียนและจีนร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อให้สอดรับกับกระแสระเบียบโลกใหม่ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งผ่านทางสงครามการค้าและสงครามรูปแบบต่างๆ

นางสาวธิดารัตน์กล่าวว่า จีนเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดประชากรและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับสองของโลก หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน จะพบว่าจีนมีความใกล้ชิดกับอาเซียนทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกัน ความสัมพันธ์ทางรัฐศาสตร์ที่เป็นมาอย่างยาวนานในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมไปถึงเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยในปี 2020 มูลค่าการค้ากับจีนคิดเป็นร้อยละ 24.7 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียน มูลค่าการค้ากับอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน และในช่วงต้นปีนี้ การค้าระหว่างสองฝ่ายกำลังฟื้นตัวกลับขึ้นมาเรื่อยๆ

ปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีนถูกกำหนดโดย 3 ประเด็นหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระดับโลกเปลี่ยนไป โดยประเด็นแรกคือโรคระบาดหรือโควิด-19 ซึ่งอาเซียนได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากจีนทั้งในด้านวัคซีนและยารักษาโรค ประเด็นถัดมาคือประเด็นว่าด้วยเศรษฐกิจ การค้าและการเชื่อมต่อผ่านทางโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initative: BRI) ซึ่งนำมาซึ่งการพัฒนาผ่านเส้นทางสายไหมนี้ ประเด็นสุดท้ายคือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาเซียนและจีนต่างมีจุดยืนเดียวกันในการยืนหยัดบนหลักการของสันติภาพ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย มีอยู่ในทุกระดับ ทั้งการเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ระดับมิตรภาพ (Friendship) และการเป็นพี่น้องกัน (Brotherhood) โดยเฉพาะกรณีของไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนพี่น้องกัน” และเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ไปสู่ระเบียบโลกใหม่ซึ่งจีนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำโลกได้ ทำให้อาเซียนควรเรียนรู้จากจีนใน 4 ประเด็น คือ

1. โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่นำการพัฒนาไปสู่ประเทศในเส้นทางที่ถูกเชื่อมโยง
2. ความสำเร็จในการขจัดความยากจน ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าไปศึกษากับประชาชนอย่างจริงจัง จนสามารถบรรลุเป้าหมายก่อนกรอบเวลาของสหประชาชาติในปี 2030
3. การเสียสละของผู้นำและองคาพยพภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะการเป็นด่านหน้าจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
4. การจัดการสวัสดิการสังคมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยก็ได้เสนอนโยบายเพื่อดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่

“จีนเคยเป็นคนป่วนแห่งเอเชีย (Sick man of Asia) แต่ใช้เวลาสร้างชาติในระยะเวลาอันสั้นเพื่อก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับผู้นำโลก ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นบทเรียนแก่อาเซียนและไทยได้” นางสาวธิดารัตน์กล่าว