กรมสุขภาพจิต เผยเคล็ดลับสร้างสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’

กรมสุขภาพจิต เผยเคล็ดลับสร้างสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ ใน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’

เมื่อขวบวัยถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญคือความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดแค่เพียงด้านร่างกาย แต่รวมถึงสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นที่ผู้สูงอายุและคนรอบข้างต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นที่มาของเวทีเสวนา ‘เติมวัคซีน สุขใจ ให้กับผู้สูงวัย’ ในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ จัดโดยเครือมติชน โดยมี นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล นายเเพทย์ทรงคุณวุฒิ เเละผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้มาไขทุกข้อสงสัย เผยกลเม็ดเคล็ดลับสุขภาพจิตดี

รู้เท่าทันอารมณ์ เคล็ดลับสุขภาพจิตดี
สำหรับคนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเข้าสู่ความเป็นผู้สูงอายุ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสภาวะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่กำลังถดถอย แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
สภาวะจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุ มักเริ่มตั้งแต่ก่อนช่วงเกษียณ หลายคนเกิดความกังวลใจว่า หลังเกษียณแล้วจะทำอะไรดี หลายคนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า แต่หลายคนคงอาจยังสงสัยว่า แล้วเราจะมีวิธีอย่างไรที่จะรู้เท่าทันกับอารมณ์ที่เปลี่ยนไป
นพ.ดุสิตเผยว่า การรู้เท่าทันอารมณ์ที่เปลี่ยนไป อาจจะลองเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างเช่น ก่อนเข้านอนลองหันมาทำสมาธิทบทวนตัวเอง มองย้อนดูตัวเองภายในหนึ่งวันว่า วันนี้เราหงุดหงิดเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่ตัวเองเคยเป็นหรือไม่ เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่เปลี่ยนไปของตนเองมากขึ้น

“นอกจากการสำรวจตัวเอง อีกหนึ่งสิ่งคือการรับฟังคนอื่น ลองเปิดใจรับฟังลูกหลาน ลองนั่งคุยกับเขา เพื่อให้เขาสะท้อนตัวตนเราออกมา เพราะบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เราเองอาจจะไม่ทันได้รับรู้ และเมื่อเรายอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ก็จะนำไปสู่การยอมรับตนเองมากขึ้น แต่หากไม่สามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลง จะนำไปสู่ความแปรปรวนทางอารมณ์ในท้ายที่สุด สิ่งสำคัญจึงเป็นการยอมรับตนเองและหมั่นคิดบวกเข้าไว้ คือ เคล็ดลับของการมีสุขภาพจิตที่ดี” นพ.ดุสิตแนะ

นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล นายเเพทย์ทรงคุณวุฒิ เเละผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต

เมื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นสิ่งสำคัญของผู้สูงวัย
มีคำกล่าวว่า เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้วอย่าให้ว่าง ควรหากิจกรรมให้ทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความฟุ้งซ่าน โดย นพ.ดุสิต ให้คำแนะนำว่า กิจกรรมที่ผู้สูงอายุเคยชอบและคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ควรสานต่อ แต่นอกเหนือจากนั้นควรเริ่มฝึกฝนกิจกรรมใหม่ที่ไม่คุ้นเคยร่วมด้วยอีกทาง อะไรที่ไม่เคยทำ ให้เริ่มหัดทำ เพราะกิจกรรมที่เคยชอบ คนสูงอายุจะใช้สมองชุดเดิมในการทำงาน แต่สิ่งใหม่ๆ ต้องใช้สมองส่วนอื่นในการทำงาน ซึ่งจะทำให้สมองส่วนการเรียนรู้จะไม่หยุดนิ่ง

ดูแลผู้สูงวัยอย่างไรให้เป็นสุขทั้งสองฝ่าย
เนื่องด้วยสังคมไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ที่ญาติเด็กเล็กแดงมักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ผู้สูงอายุ คือ เรื่องของคนดูแลใกล้ชิด และหลายคนคงเคยพบเจอปัญหาผู้สูงอายุชอบเล่าเรื่องราวเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่รู้หรือไม่ว่า เพียงการรับฟังก็ช่วยให้ท่านมีความสุขได้ในแต่ละวัน

นพ.ดุสิตให้คำแนะนำถึงแนวทางการรับมือปัญหาดังกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการรับฟัง อย่าไปทำท่าทีรำคาญ ไม่ต้องไปทักท้วงว่าเล่าไปแล้ว ถ้าท่านอยากเล่าให้ท่านเล่าไป เคล็ดลับอาจจะใช้วิธีการหูทวนลมก็สามารถทำได้ สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของผู้สูงอายุ ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้จากเพียงการรับฟัง นอกจากนั้นยังส่งผลดีต่อตัวผู้สูงอายุ เพราะทุกครั้งในการเล่า จะเป็นการช่วยดึงเรื่องราวเก่าๆ ออกมาใช้ ทำให้สมองได้ทำงาน ได้นึกคิดทบทวนว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเป็นเรื่องอะไรบ้าง
เฉกเช่นเดียวกับชีวิตคู่ การอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุไม่มีกฎตายตัวแบบในทฤษฎี แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้สูงอายุและคนใกล้ชิด ผู้ใหญ่บางท่านอาจไม่ชอบกวนลูกหลาน ถ้าเราไปดูแลท่านเยอะเกินไป เขาอาจจะเริ่มไม่มีความสุข เพราะท่านกังวลใจว่า เราอาจสละเวลาส่วนตัวเยอะเกินไป จึงต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างกันที่พอดี

ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุบางคนต้องการความดูแลและความใส่ใจที่สูง เราก็ต้องหาจุดพอดีระหว่างกันหากัน ทำความเข้าใจเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยทำความรู้จักกัน เอาคู่เราเป็นหลัก ไม่ต้องสนใจโลกภายนอกมาก

“กล่าวโดยสรุป สิ่งสำคัญของการเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจว่าเราเปลี่ยนจริงๆ เมื่อเรายอมรับความจริงได้ จิตใจก็จะสบายมากขึ้น ทำจิตใจให้โปร่งใส คิดทบทวนว่าเราใช้อารมณ์แต่ละวันว่าเป็นแบบไหน และพยายามคิดว่าเราจะไม่ทำอีก จะทำให้จิตใจเราก็สบายมากขึ้น แต่หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายมากเกินรับไหว สิ่งที่พึงกระทำคือการไปพบแพทย์ ซึ่งก็จะดูแลเราได้ทั้งร่างกายและจิตใจให้กลับมาเข้มแข็งได้มากขึ้น”

‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมาย ทั้งการตรวจสุขภาพฟรี จาก 14 โรงพยาบาลชั้นนำทั้งรัฐและเอกชน นวัตกรรมเด่นๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนทุกวัยง่ายขึ้น ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ กิจกรรม Lucky Star สอยดาว ได้โชค รายได้มอบแก่การกุศล รวมทั้งกิจกรรมบนเวทีที่มอบสาระความรู้และความเพลิดเพลิน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30 – 20.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสามย่าน ใช้ทางออกที่ 2