“อรุณี” อัดยับ “ประยุทธ์” ทำประเทศเละเทะ จาก ศบค. ถึง สมช. สะท้อนใช้งานผิดฝาผิดตัว

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาชวนน่ากังขาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า
“เพราะรัฐบาลใช้คนผิดฝาผิดตัว ประเทศไทยจึงเละเทะไม่มีชิ้นดี”
.
.
ช่วงนี้ราคาน้ำมันแพงมากจริง ๆ นะคะ แถมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กันอีก คนที่ต้องรับเคราะห์กรรมจากค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นขนาดนี้ก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นประชาชนคนหาช้าวกินค่ำธรรมดา ไล่ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนพนักงานออฟฟิศ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มทำงานตั้งตัว กลับต้องมาเจอวิกฤตค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้ขนาดนี้
.
มีข่าวคนฆ่าตัวตายรายวันเพราะพิษเศรษฐกิจและความเครียดสะสม ข่าวทวงหนี้โหดเพราะชาวบ้านต้องไปกู้เงินนอกระบบมาหมุน ข่าวปล้นชิงวิ่งราวก็มีให้เห็นกันทุกวัน แต่ผู้มีอำนาจทั้งหลายคงจะไม่รู้สึกอะไร เพราะพวกท่านนั่งรถประจำตำแหน่งฟรี ค่าน้ำไฟฟรี ไม่ได้มารับรู้ความลำเค็ญของพี่น้องประชาชนเลยแม้แต่น้อย
.
ตอนนี้สิ่งที่พวกเราคาดหวังจากรัฐบาล คือ นโยบายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน นโยบายที่จะช่วยให้พวกเราประหยัดเงินในกระเป๋า นโยบายที่จะทำให้พวกเราลืมตาอ้าปาก และพวกเราคาดหวังว่าจะได้คนเก่งที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจมาช่วยรีบแก้ไขให้ความเดือดร้อนทุเลาลง
แต่สิ่งที่พวกเราได้จากรัฐบาลน่ะเหรอคะ คือ การแต่งตั้ง “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” มารับมือกับวิกฤตพลังงานและอาหาร ซึ่งดูจะผิดฝาผิดตัวมาก ๆ กับการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้
.
ผิดฝาผิดตัวแบบ “สมช.”
.
สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. นั้นทำหน้าที่ในการดูแลกิจการความมั่นคงของชาติ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ แต่ปัญหาในตอนนี้ที่ประชาชนกำลังเผชิญ คือ ความมั่นคงของกระเป๋าสตางค์ (ที่แทบจะไม่มี) และปากท้อง (ที่แทบจะไม่อิ่ม) มันใช่เรื่องที่ สมช. จะมีบทบาทนำในการแก้ไขวิกฤตราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วเหรอคะ ในเมื่อเรามีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน ที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันสูง และกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องการควบคุมราคาสินค้า การแต่งตั้ง สมช. มารับหน้าปัญหานี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการใช้ “ทหารนำเศรษฐกิจ” ซึ่งพี่น้องก็คงจะทราบกันดีนะคะว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร ในเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาก็บอกอะไรเราได้เยอะมากเกินพอแล้ว
.
ทีนี้หญิงพยายามจะตั้งข้อสังเกตค่ะว่า ทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงตัดสินใจโยน “เผือกร้อน” ให้ สมช. เป็นคนรับ เพราะตามปกติแล้วเราก็คงจะ “ใช้คนให้ถูกกับงาน” คนที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ ให้จัดการกับปัญหาเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เราคงจะไม่ใช้นักกีฬาว่ายน้ำไปแข่งฟุตบอลหรอกใช่ไหมคะ ซึ่งหญิงว่าเบื้องหลังของการเลือกใช้งาน สมช. ที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง ก็เพราะกลัวว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจะลุกลามไปสู่การชุมนุมประท้วง จนกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะจัดงานโอเปคในปลายปีให้ได้ พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อความมั่นคงของประชาชนคนไทยหรอกค่ะ แต่ทำเพื่อความมั่นคงของตัวเองและพวกพ้องทั้งนั้น
.
ผิดฝาผิดตัวแบบ “ศบค.”
.
พูดถึงเรื่องการใช้คนแบบ “ผิดฝาผิดตัว” ของรัฐบาลเช่นนี้ ทำให้หญิงนึกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่งค่ะ ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลใช้คนไม่ถูกกับงาน นับตั้งแต่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มระบาดรุนแรงมากขึ้นในปี 2563 พลเอกประยุทธ์ได้เซ็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อมาดูแลการแพร่ระบาดของโควิดโดยเฉพาะ นั่นก็คือ ศบค. และลองทายสิคะว่าใครเป็นผู้อำนวยการของศูนย์ประสานงานกลาง ศบค.
คำตอบ คือ “เลขาธิการ สมช.” นั่นเองค่ะ
.
เป็นอีกครั้งนะคะที่รัฐบาลเลือกใช้ทหารนำในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ราวกับว่าทหารเป็นทุกอย่าง และเมื่อมีทหารอย่างเลขาฯ สมช. ซึ่งเป็นคนสนิทของพลเอกประยุทธ์ที่เคยรั้งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ คสช. มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ ศบค. จึงไม่น่าแปลกใจค่ะ ที่ ศบค. จะเลือกใช้ พรก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด แต่อย่างที่เรารู้กันว่า พรก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโควิด แต่มีไว้ควบคุมม็อบและจัดการผู้เห็นต่างทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเองเท่านั้น ในระยะแรกเราจึงจะเห็นว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดเต็มไปด้วยความผิดพลาดทุลักทุเล เพราะใช้ “ทหารนำโควิด” นั่นเองค่ะ
.
ปัจจุบันประชาชนคนไทยต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน มานานกว่า 2 ปีแล้วนะคะ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และขยายระยะเวลาประกาศใช้ต่อเนื่องมามากกว่า 18 ครั้ง แม้ว่าสถานการณ์โควิดล่าสุดจะดีขึ้นจนใกล้เป็นโรคประจำถิ่น หรือเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ในวันที่ 1 ก.ค. หรือกระทั่งประกาศผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลงแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังเลือกที่จะคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอยู่ดี แทบจะไม่ต้องเดาเลยนะคะว่า เหตุผลเบื้องหลังของการคงไว้ซึ่งการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน คืออะไร ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ได้ฉุกเฉินร้ายแรงอีกต่อไป ถ้าไม่ใช่การใช้ พรก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือทางการเมือง
.
ผิดฝาผิดตัว “ซ้ำเติมปัญหามา 8 ปี”
.
ไม่ว่าจะเลือกใช้งานคนอย่าง “ผิดฝาผิดตัว” ในเรื่องอะไรก็ตามนะคะ คนที่ต้องเดือดร้อนรับเคราะห์กรรมนี้ก็คือ “ประชาชนคนไทย” ทั้งประเทศ ปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพของพลเอกประยุทธ์ ยังทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่แย่อยู่แล้ว เลวร้ายลงไปหนักกว่าเดิม ผิดพลาดในการบริหารตั้งแต่ต้นน้ำอย่างนายกฯ ไปยังกลางน้ำอย่างคนที่นายกฯ แต่งตั้งมาดูแลจัดการ แต่ไปซวยที่ปลายน้ำอย่างพวกเรา
.
และจริง ๆ แล้ว หญิงไม่คิดว่าพลเอกประยุทธ์จะเลือกใช้คน “ผิดฝาผิดตัว” ด้วยความไม่รู้หรอกค่ะ แต่จงใจเลือกใช้งานคนไม่ถูกกับงานก็เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนสนิท และพร้อมจะปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของพลเอกประยุทธ์อย่างสุดความสามารถต่างหาก
“ทั้งหมดนี้ก็ทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสมการของพวกเขาตั้งแต่แรก”
.
ตอนนี้เราก็กำลังใช้คน “ผิดฝาผิดตัว” อยู่เหมือนกันนะคะ ที่มีอดีตทหารอย่างพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ 8 ปีที่ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายยังแย่ลงกว่าเดิม หญิงว่าถึงเวลาที่เราในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศ จะเลือกใช้คนให้ “ถูกฝาถูกตัว” แล้วแหละค่ะ