‘ยุทธพงศ์’ ลั่นจองกฐิน “สันติ” ปมท่อส่งน้ำอีอีซี ย้ำมีทีเด็ด แฉพิรุธประมูลมีเงื่อนงำ

“ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร”ประกาศจองกฐินซักฟอก “สันติ” ปมประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่า 25,000 ล้านบาท โวมีทีเด็ด แฉกลางสภา ย้ำเป็นเรื่องใหม่ หลังฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายฯไปแล้ว ขณะ “อาคม” เบรกเซ็นสัญญาผู้ชนะ หวั่นผิดกฎหมาย  

วันที่ 30 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านใน สภาผู้แทนราษฎร นำรายชื่อ 182 รายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นขอเปิดญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 11 คน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยประกาศเด็ดหัวนายกและสอยนั่งร้านเผด็จการนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่น่าจับตามองเป็นพิเศษในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กับข้อกล่าวหา ไม่ซื่อสัตย์สุจริต มีพฤติการทุจริตต่อหน้าที่ ละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์

โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เตรียมข้อมูลสำหรับการอภิปรายนายสันติ ในประเด็นการคัดเลือกเอกชนมาบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกหรือ EEC มูลค่า 25,000 ล้านบาท แต่พบว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส

“ผมบอกเลยเรื่องนี้เรียกว่าของดีตอนช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล  ถ้าเรื่องนี้ไม่มีของดี หรือฝ่ายค้านไม่มีทีเด็ดอะไร พล.อ.ประยุทธ์ จะสั่งให้หยุดไว้ก่อนได้อย่างไร เพราะที่จริงวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เขาต้องเซ็นสัญญาไปหมดแล้ว แต่คนที่สั่งให้หยุดคือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอีอีซี ถ้าฝ่ายค้านไม่มีทีเด็ดอะไรนายกฯจะไปสั่งทำไม” นายยุทธพงศ์  กล่าวและว่าที่จริงเรื่องนี้ถ้าเซ็นสัญญาได้จริงคงเซ็นไปนานแล้ว

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ตนเห็นความผิดปกติของการประมูลโครงการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กรมธนารักษ์ กำลังรับผิดชอบ และเกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส ในการประมูลคัดเลือกในครั้งนี้

โดยเฉพาะประเด็นบริษัทที่ได้งาน ซึ่งมีข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพ และชื่อเสียง เพราะเป็นบริษัทหน้าใหม่ จึงน่ากังวลว่าหากปล่อยโครงการขุดท่อส่งน้ำทั้งหมดไปให้บริษัทที่ไม่มีที่มาที่ไปรับผิดชอบ หากบริหารงานผิดพลาด ไม่มีน้ำเพียงพอ จะเกิดความเสียหาย อาจจะพังกันทั้งอีอีซี เพราะน้ำดิบไม่เพียงพอกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่ตะวันออก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องไปผันน้ำจากที่อื่น บริษัทที่ได้งาน จะทำได้จริงหรือไม่ อีกประเด็นการไปเชิญบริษัทเข้าร่วมประมูลทั้ง 5 ราย มันก็แปลกๆอยู่เหมือนกัน

” ถ้าเรื่องนี้ไม่แปลก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง คงให้เซ็นสัญญาไปแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ยอมให้เซ็นสัญญา เพราะมันผิดกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการประมูลและวิธีการประมูลแล้ว รวมถึงการปรับแก้ทีโออาร์ เปิดทางให้บริษัทเล็กๆเข้ามาได้ เป็นบริษัทที่ทิ้งงานก็เข้ามาได้ ที่จริงควรทำเพื่อให้ประโยชน์กับทางราชการคนทิ้งงานเข้ามาได้อย่าง ผมว่าเรื่องนี้ปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ผมขอเก็บข้อมูลเด็ดไว้ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจก็แล้วกัน” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆเป็นเรื่องเก่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟฟ้า หรือเรือดำน้ำ และจากที่ถามกระทู้กับการอภิปรายงบประมาณวาระ 1 ไป นายสันติ ตอบอะไรก็ไม่รู้

“ผมเห็น หัวหน้ากลุ่ม 16 นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ออกมาบอกว่าเรื่องนี้เป็นจุดแตกหัก เรื่องอื่นคุยกันได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประมูลโครงการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กรมธนารักษ์  กำลังรับผิดชอบ มีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูล และความผิดปกติ ในระเบียบที่ราชพัสดุ ของกระทรวงการคลัง ที่มีมูลค่าเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป เวลาจะดำเนินการต้อง”ประกวดราคา” ก็จะใช้ “วิธีการประมูลทั่วไป” แต่โครงการท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กรมธนารักษ์ กำลังดำเนินการคัดเลือก ขณะนี้ไป “ใช้วิธีการคัดเลือก”

ทั้งนี้การเปิดซองประมูลครั้งแรก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะประมูล พบว่า “มีการยกเลิก” โดยคณะกรรมการคัดเลือกการชนะประมูล จนบริษัทอีสท์ วอเตอร์ ต้องฟ้องร้อง  ต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ โดยเปลี่ยนกรรมการชุดแรก ที่คัดค้านการยกเลิก บริษัทอีสท์ วอเตอร์ จนทำให้บริษัทวงษ์สยาม ชนะการคัดเลือกรอบที่สอง