ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หวั่นเงินเฟ้อดันหนี้ครัวเรือนสูง โตปีละ 3-4% 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หวั่นเงินเฟ้อดันหนี้ครัวเรือนสูง โตปีละ 3-4% คาดท่องเที่ยวดันจีดีพีโต 2.9%

 

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยในงานแถลงข่าว หัวข้อ ทิศทางเศรษฐกิจไทย ฟื้นฝ่าเงินเฟ้อ? ว่า ทิศทางเศรษฐกิจจากแผนการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง หนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม และมีอานิสงส์ต่อเนื่องมายังการปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2565 จาก 2.5% เป็น 2.9% และคาดว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3/2565 จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 4.0 ล้านคน เป็น 7.2 ล้านคน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะยังห่างจากช่วงก่อนโควิดที่ทำได้ถึงราว 3 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจกำลังจะกลับมากระตุ้นได้ดีขึ้นจากภาคท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัว

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามยังเป็นเรื่องเงินเฟ้อที่อาจพุ่งสูงสุดในไตรมาส 3/2565 ซึ่งทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง โดยเข้าหาระดับ 1.0% ภายในสิ้นปีนี้ เทียบกับ 0.5% ในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แต่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของฝั่งเงินฝากและเงินกู้ตามในทันที โดยคงเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเฉพาะบางผลิตภัณฑ์มากกว่า เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูงและยังมีโจทย์ในการช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวข้ามช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อส่งผลให้หนี้ครัวเรือนสูง ในแง่สัดส่วนปีนี้ด้วยฐานจีดีพีที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปีนี้มีโอกาสอยู่ระดับต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมอยู่ที่ 86.5-88.5% ด้วยจีดีพีที่ใหญ่ขึ้นมีโอกาสเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนไม่ได้มีแนวโน้มลดลง และอาจเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ 3-4% หากมีการขึ้นดอกเบี้ยอาจกระทบบางผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์เช่าซื้อ หรือผลิตภัณฑ์กู้ระยะยาวอย่างสินเชื่อบ้าน แต่คาดหวังว่าผู้บริโภคที่ซื้อบ้าน หรือซื้อรถได้ จะมีความทนทานต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มอาจไม่สูงมากนัก

สำหรับค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าเข้าหาระดับ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ตามปัจจัยเศรษฐกิจและดอกเบี้ยสหรัฐ ที่หนุนเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า และมีการปรับตัวผ่านเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทยบางส่วน นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบภาคการส่งออกลดลง จากการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยได้ปรับภาคการนำเข้าจาก 7.4% ปรับเพิ่ม 14.5% โดย 7% ที่ปรับขึ้นมาจากราคาน้ำมันดิบ 6% และราคาสินค้าขั้นต้นและกลางอีก 2% ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักร เหล็ก เคมีภัณฑ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จึงคาดว่าการส่งออกจะลดลง เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าสูง ส่งผลให้รายได้ไม่สมดุลกัน

“อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ต้องห่วงผลกระทบต่อความมั่นคงของระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากยังอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ได้กว่า 1.2 เท่า”นางสาวณัฐพรกล่าว