อนามัยโลกชี้ ฝีดาษลิง ไม่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

อนามัยโลกชี้ ฝีดาษลิง ไม่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก ระบุเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นในมากกว่า 50 ประเทศ ไม่เข้าข่ายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หรือการเฝ้าระวังทางสาธารณสุขระดับสูงสุดขององค์การฯ

อย่างไรก็ดี สมาชิกคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การฯ ระบุในรายงานภายหลังการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) เกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษลิง ว่าไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มเติมในวงกว้าง โดยรายงานชี้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาขององค์การฯ ปล่อยปละละเลยและไม่ได้จัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงให้ดีมานานหลายปี

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ ระบุว่าการประชุมของคณะกรรมการสะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศ ซึ่งอาจมีการจัดการประชุมอีกครั้งโดยอิงตามสถานการณ์การแพร่ระบาด

คณะกรรมการเน้นย้ำปัจจัยหลายข้อที่ควรใช้สำหรับประเมินสถานการณ์การระบาดครั้งใหม่ อาทิ อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในอีก 21 วันข้างหน้า การแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นและการแพร่ระบาดภายในประเทศอื่นเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และยอดผู้เจ็บป่วย เสียชีวิต และอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น

ทีโดรสเรียกร้องให้กระชับการเฝ้าระวัง ปรับปรุงการตรวจวินิจฉัย การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสื่อสารด้านความเสี่ยง ตลอดจนการใช้วิธีรักษา ใช้งานวัคซีน และใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการแกะรอยและการกักตัวผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด

ทีโดรสยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูล และมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้แจ้งมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ หลายประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งปกติแล้วจะไม่พบโรคฝีดาษลิง มีรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแบบเป็นกลุ่มก้อนช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

โรคฝีดาษลิง ซึ่งถือเป็นโรคเฉพาะถิ่น มักแพร่ระบาดในภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันผลและผู้ป่วยต้องสงสัยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปยังถิ่นระบาดในหลายประเทศนั้นถือเป็นเรื่องผิดปกติ

อนึ่ง โรคฝีดาษลิงถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในกลุ่มลิงทดลองเมื่อปี 1958 และคาดว่าอาจแพร่ระบาดจากสัตว์ป่าอย่างสัตว์จำพวกหนูสู่คน หรือจากคนสู่คนได้