ชง กม. ฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด หวังคืนสังคม ย้ำ ผู้ป่วยไม่ใช่ อาชญากร

เครือข่ายองค์ผู้ใช้ยาเสพติดฯ ชง กม. ฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด หวังคืนสังคม ย้ำ ผู้ป่วยไม่ใช่ อาชญากร

 

วันที่ 24 มิถุนายน เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ในฐานะหัวหน้าทีมผู้จัดทำร่างกฎหมาย และคณะ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำบัดฟื้นฟู คุ้มครองดูแล และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้ยาเสพติดฯ (ภาคประชาชน)

ด้านนายสมชาย กล่าวว่า เครือข่ายผู้ที่ทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติดได้ติดตามการดำเนินการของรัฐบาลมาเป็นเวลายาวนานเนื่องจากผู้ใช้ยาเสพติดที่ผ่านถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้ใช้ยาเสพติดมีทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง มีทั้งผู้ที่พึ่งพิงยาและเสพเป็นครั้งคราว แต่กฎหมายปฏิบัติกับคนเหล่านี้ในฐานะผู้กระทำความผิดหรืออาชญากรซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการสหประชาชาติ ที่ถือว่าผู้ใช้ยาถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัด ฟื้นฟูเพื่อให้เขาหายกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โดยพบว่าผู้ใช้ยาเมื่อเข้าสู่การบำบัดถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวาง ทั้งเรื่องการถูกทรมานการปฏิบัติที่ย้ำยีศักดิ์ศรีทั้งจากเจ้าหน้าที่และศูนย์บำบัดฯ โดยเราหวังว่าหากรัฐบาลจัดทำกฎหมายหลักการองค์การสหประชาติที่ระบุว่าผู้ใช้ยาเสพติดเป็นผู้ป่วยจะถูกนำไปบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

“แต่เราก็ค่อนข้างผิดหวังเมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวที่เพิ่งมีผลไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลับยังถือหลักเดิม คือผู้ใช้ยาเสพติดเป็นผู้กระทำความผิด และยังใช้กระบวนการบังคับบำบัดอยู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในลักษณะซ้ำ ๆกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วไม่มีอะไรที่จะดีขึ้นเลย ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางเครือข่ายฯ จะจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อจะรวบรวมรายชื่อของประชาชนที่เห็นด้วยและเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา โดยเราหวังว่าการริเริ่มที่เราได้จัดทำขึ้นจะได้รับความเห็นชอบและนำไปทำกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเข้าใจผู้ใช้ยามากขึ้น” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า โดยร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนจะมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ใช้ยาตามหลักขององค์การสหประชาชาติและเน้นให้เจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามผู้ที่ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกยาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยผู้ใช้ยาถือเป็นเหยื่อของกระบวนการเหล่านี้ ฉะนั้น จึงไม่ควรปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ภาพสังคม ครอบครัว ภาคธุรกิจและภาคเอกชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ใช้ยาให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมได้ อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้าน นพ.สุกิจ กล่าวว่า จะรับร่างและนำเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบความถูกต้อง หากมีความไม่ถูกต้องอย่างไร จะแจ้งกลับไปยังผู้ยื่น เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจะต้องมีการรวบรวมรายชื่อของผู้ยื่นไม่น้อยกว่า 1 หมื่นรายชื่อ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560