“รองฯทวิดา” ถอดบทเรียน “ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่” ชี้พื้นที่เสี่ยงในกทม.มีอีกมาก

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตนักวิชาการนโยบายสาธารณะและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทเรียนกรณีไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพลิงไหม้ทำลายบ้านเรือนไป 30 หลังและมีผู้ได้รับผลกระทบกว่าร้อยคน ว่า
.

วันนี้เป็นวันที่ยาวนาน

โพสต์จะยาวตาม จะสอนหนังสือ ถ้าเหนื่อยอย่าตามอ่านนะคะ

อยากสะท้อนจากมุมผู้ปฏิบัติงานสาธารณภัยบ้าง วันนี้ให้สัมภาษณ์ไปเยอะมากแล้วเกี่ยวกับการหาแนวทางความช่วยเหลือ และการดูแลผู้ประสบภัย หันมาเก็บรายละเอียดการปฏิบัติงานไว้จำ และวันหน้าอาจได้กลับไปสอนหนังสือ

ชุมชนบ่อนไก่เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นมาก เวลาอธิบายความหนาแน่นในมุมความเสี่ยงอัคคีภัย คิดภาพตามนะคะ ความกว้างของทางเดินบางจุดเดินสวนกันได้ บางจุดเดินทีละคน โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะต้องลากสายดับเพลิงจะค่อนข้างแคบ คำว่าหนึ่งหลังคาเรือน มีขนาดเล็กกว่าห้องแถวหนึ่งห้อง บางหลังคาเรือนมี 6-7 ครอบครัว เอาฝากั้นห้องพอนอนหลับได้เท่านั้น หลังคาแต่ละบ้านเป็นสังกะสี มุงติดๆกันเพราะต้องกันน้ำฝน สายไฟสายสื่อสารพันกันวุ่นวาย อยู่ในระดับต่ำเลยหัวเราไปนิดเดียว (เราสูง 160 ซม.) เอาจริงๆบางจุดต้องก้มหัวนิดนึงไม่งั้นหัวชนขยุ้มสาย

<<นักศึกษาความเสี่ยงภัยพิบัติควรต้องเข้าใจว่า ลักษณะชุมชนทางกายภาพเช่นนี้ ถือว่ามีความล่อแหลมสูง ที่หากเกิดภัยขึ้นแล้ว ภัยอาจจะขยายตัวได้โดยง่าย และการที่อยู่อาศัยกันหนาแน่น เป็นผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถมีทรัพยากรช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น อีกทั้งวัสดุที่ใช้กั้นห้อง เครื่องไฟฟ้าที่ใช้ ตลอดจนการที่พื้นที่โดยรอบแคบ ถือเป็นความเปราะบางของชุมชนและจุดอ่อนทางกายภาพ ต่อการทวีความรุนแรงของผลกระทบและการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์>>

สายไฟเหล่านี้ แม้เป็นสายตาย สายทุกสายสามารถนำไฟและติดไฟได้ (อันนี้ถามหัวหน้าดับเพลิงและท่านรองฯวิษณุมา) การที่ไม่ได้สำรวจจริงจังเป็นเวลานาน อาจทำให้สายเหล่านี้มีการชำรุด เปราะ และสามารถเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ สายจำนวนมากนี้ยังพันกันไปมาจนยากต่อการบำรุงรักษาและตรวจสอบ ยิ่งทำให้โอกาสที่ไฟฟ้าจะลัดวงจร และแผ่ขยายไปเกิดได้ง่ายขึ้น เช่นในกรณีนี้ เกิดประกายไฟที่จุดหนึ่งก่อน แล้วมีผลต่อการวิ่งของกระแสไฟ ไปเกิดประกายไฟปะทุขึ้นอีกจุดหนึ่ง จึงทำให้เหมือนถูกไฟล้อมสองด้าน เกิดความยากในการเข้าพื้นที่เพื่อจำกัดวงของไฟไม่ให้ลุกลามจึงทำได้ยาก ไม่ใช่เพียงเพราะพื้นที่ล่อแหลมและเปราะบาง

<<ตรงนี้หากนักศึกษาจำที่สอนในห้องได้ ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือในภาษาง่ายๆคือ โอกาสที่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จะเกิด จะมีมากขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ อันนี้แล้วแต่ว่าใช้สูตรความเสี่ยงที่คิดโอกาสเกิดเฉยๆ หรือใช้สูตรความเสี่ยงที่มีการคิดจุดอ่อนเข้าไปเพิ่มโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ด้วย แต่พึงจำให้ขึ้นใจ ความเสี่ยงไม่ได้คิดแค่เพียงโอกาสที่เหตุนั้นๆจะเกิดเท่านั้น แบบนั้นเรียกว่า ความเสี่ยงที่เหตุการณ์จะเกิด (Threats) ไม่ใช่ความเสี่ยง (Risks) และความเสี่ยงภัย (Disaster Risks)>>

จำนวนหัวจ่ายน้ำประปา (หัวแดง) ต้องทำความเข้าใจว่า การจ่ายน้ำพร้อมกันหลายๆหัว จากการต่อสายหลายๆสาย เพื่อฉีดน้ำดับไฟ และล้อมจำกัดวงลุกลามนั้น อาจทำให้มีการดึงน้ำซึ่งกันและกัน อีกทั้งแรงดันน้ำในท่อจะแรงได้ระดับหนึ่ง หาไม่แล้วท่ออาจจะแตกได้ หน้าชุมชนและท้ายชุมชนมีหัวจ่ายน้ำที่ละอัน ในชุมชนเองมีสามอัน ใช้ต่อน้ำได้ทั้งหมด แต่การต้องลากสายฉีดน้ำจากด้านล่างทำได้ยากมากถึงกับต้องทุบกำแพงลากทั้งสายทั้งอุปกรณ์ การฉีดในระดับสูงทำได้ลำบาก ทั้งต้องหาจุดปีนเพื่อฉีด แต่ฉีดก็ติดหลังคาทำให้น้ำลงไปได้ช้า และทำให้บ้านเรือนข้างเคียงเสียหาย อันนี้ต้องขอโทษอย่างจริงจัง เราพยายามอย่างที่สุดแล้วจริงๆ ถังแดงที่เป็นสารเคมี ถึงมีก็ไม่มากพอ ฉีดได้ไม่กี่นาทีก็หมด สู้การลามของไฟไม่ได้จริงๆ ถึงแม้ว่าทีมดับเพลิงจะถึงพื้นที่ได้เร็วเพราะสถานีอยู่ใกล้ แต่ก็เข้าพื้นที่ได้ไม่เร็วนัก

<<เวลาเราสอนความเสี่ยงภัย “ศักยภาพ” คือปัจจัยเดียวที่สามารถเพิ่มให้ได้ และจะเป็นตัวลดทอนความเสี่ยงลง เวลาอธิบายศักยภาพ ไม่ใช่เฉพาะศักยภาพในการเผชิญเหตุ และรับมือสถานการณ์ อาทิ มีถังแดง มีสถานีดับเพลิง มีรถเข็นดับเพลิง แต่ให้หมายความรวมถึงการสร้างให้เกิดระดับความสามารถในการลดความเสี่ยง อาทิ การตรวจตราพื้นที่ การแก้ไขสายไฟชำรุด การมีแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ การมีอุปกรณ์ดับเพลิงชุมชนตามบริบทพื้นที่ การเตรียมพื้นที่ไว้นำเข้าอุปกรณ์ การวางเส้นทางเข้าออกวิกฤต และการซักซ้อมความเข้าใจต่อขั้นตอนการเผชิญเหตุ เป็นต้น ความเร็ว ความแม่นยำ และระบบความร่วมมือ จึงมีความสำคัญมาก>>

ภาพนี้คือการทุบกำแพง เพื่อส่งทั้งสายดับเพลิง อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง รวมทั้งความช่วยเหลืออื่นๆเข้าสู่พื้นที่ ที่เห็นคือพอแค่คนรอดออกได้นี่ล่ะ แถมพื้นด้านนอกจากจุดระดับทุบสูงมากนะคะ ขนาดเราไม่เตี้ยยังต้องกระโดดลง การเข้าพื้นที่นั้น หน่วยงานพยายามเร่งให้เร็วที่สุดแล้วจริงๆ แต่สู้ปัจจัยเร่งของไฟไม่ได้ ความเสียหายประมาณ 3 ไร่จากพื้นที่ 12 ไร่ ไม่น้อยเลยและเสียหายแบบทั้งหมด พื้นที่เสี่ยงสูงแบบนี้มีอีกมาก กทม.ต้องเร่งมือ

#BangkokDG3

ทวิดา กมลเวชช บันทึกรายงาน