“ชัชชาติ-เศรษฐา” ร่วมถก Stronger Thailand ยกผู้ว่าฯกทม.ฉันทามติของความหวัง

‘เศรษฐา’ ยก ‘ชัชชาติ’ เป็นฉันทามติของความหวัง เจ้าตัวปัด ทำงานหนัก-ตื่นเช้ากว่า ปชช.

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนา “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมให้มุมมองตลอดจนแนวทางอนาคตของไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป

โดยบรรยากาศ เวลา 10.45 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Stronger Bangkok ; Stronger Thailand”

โดยมี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย นายสรกลเริ่มด้วยการกล่าวแซว นายเศรษฐา ว่าเป็นผู้เชียร์นายชัชชาติตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก่อนถามทั้งคู่ว่า 1 เดือนที่ผ่านมาของผู้ว่าฯกทม. พึงพอใจแค่ไหน เมื่อเทียบกับแมตช์ฟุตบอลในช่วงเวลาเริ่มแรก?

นายเศรษฐากล่าวแสดงความยินดีความว่า ดีใจกับนายชัชชาติ เพราะคะแนนเสียงที่ท่านได้มาคือฉันทามติ ในแง่ของความคาดหวัง ประทับใจ อย่างหลังคงไม่ต้องพูดถึง

“ตื่นเช้า ทำงานถึงค่ำ ผมมีความเป็นห่วง เป็นอะไรที่เหนือความคาดหวัง และชาว กทม.โหยหา เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคน ที่กำลังประสบปัญหาอยู่และอาจจะหมดหวัง ท่านผู้ว่าฯเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ดีของพวกเรา” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า เรามีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รู้สึกดีใจ เพราะคะแนนเสียงที่ได้มา ถือเป็นฉันทามติของคนกรุงเทพมหานครทุกคน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในแง่ความคาดหวังและความประทับใจไม่ต้องพูดถึง เพราะทำงานมา 1 เดือน เหมือนทำมาแล้ว 1 ปี ทั้งการตื่นเช้าไปทำงาน การติดตามปัญหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ โหยหา ช่วยสร้างกำลังใจให้คนที่ประสบปัญหาอยู่ กำลังจะหมดหวัง และถือเป็นนิมิตหมายอันดี

“ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯ กทม. พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ การทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นบริบทใหม่ ในการนำปัญหาเข้ามาให้ทุกคนมองเห็นด้วยกัน ผ่านการวัดเคพีไอการทำงานของคนที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก แต่ใช้ประสิทธิภาพของกำลังคนให้มีความกระตือรือร้น โดยการจะทำแบบนี้นั้น เป็นเรื่องของภาวะผู้นำ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จะพูดอวยหรืออะไร แต่ต้องยอมรับว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนการทำงานที่ลงพื้นที่จริง เข้าใจปัญหาจริง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อันนี้ถือเป็นนิมตรหมายอันดี ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มีความหวัง แต่ข้าราชการที่มความสามารถ และมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจริง เมื่อเจอผู้นำที่มีความเด็ดขาด และมีความจริงใจในการทำงาน ก็มีความหวังไปด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อฟังผู้ว่าฯ กทม. ใช้คำพูดว่า การทำงานจะเป็นการทลายไซโล (Silo) หรือพฤติกรรมและกรอบความคิดเดิมของหน่วยงานต่างๆ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปด้วย มีการอธิบายให้ฟังตลอดเวลา และตั้งคำถามว่า เมื่ออธิบายให้ฟังตลอดแล้วทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการทำงานและรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยการทำงานร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง ไม่ใช่ว่าเมื่ออธิบายให้ฟังตลอดเวลาทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะคุณถูกเลือกขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นการอาสาในการเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เสียสละเข้ามา แม้มีบ้างที่พูดเหมือนเสียสละเข้ามา แต่ใจจริงก็อยากเข้ามา ในแง่งบประมาณที่จัดตั้งให้กทม.มานั้น ถูกจัดสรรมาแล้ว จึงอาจเป็นงบที่น้อยและยังไม่สามารถบริหารจัดการได้หลากหลายมากนัก แต่สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการมาตลอด 1 เดือนนั้น อาทิ การนำสายไฟลงดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง แต่สิ่งที่ทำคือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ผ่านการนำสายไฟต่างๆ ที่ไม่ใช่ออก จัดระเบียบให้เรียบร้อยไว้ก่อน อาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในปัจจุบัน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมองว่างบประมาณไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ทำ ความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอย่างเดียว

อีกเรื่องมองว่าหลายๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหากกทม. มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เชื่อว่าเอกชนพร้อมร่วมมือ โดยหากมีการเข้าพบแล้วช่วยเหลือกัน ถือเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทนทีหลัง ก็บอกผู้ว่าฯ กทม. ไว้เลยว่า หากอะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องก็บอกไปเลยว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะไม่ใช่เอกชนทุกรายที่หวังผลตอบแทน ซึ่งเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า ชาวบ้านเดือดร้อนเยอะ เราออกไปตี 5 ชาวบ้านตื่นก่อนแล้ว วันนี้ไปบ่อนไก่มา ยังเป็นห่วงอยู่ ชาวบ้าน 109 คนต้องไปอยู่ศูนย์พัก นักเรียนหลายคนไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะไฟไหม้หมดแล้ว ยังไม่ได้อาบน้ำ

“ผมไม่ได้ทำงานหนักกว่าประชาชน มีคนหนักกว่าเราเยอะ ตื่นก่อนเรา หลับหลังเรา มีคนที่หนักกว่าเรา เราทำเต็มที่เพื่อพยายามแก้ปัญหาของประชาชน ผมทำงานปกติ แต่เผอิญมีไลฟ์ เลยเห็น แต่ไม่ต่างจากปกติ” นายชัชชาติกล่าว

ในช่วงท้าย นายสรกล ได้สอบถามว่า สิ่งที่โดดเด่นของชัชชาติ คือการไลฟ์สด มองเป็นการพีอาร์หรือไม่ ?

นายชัชชาติเผยว่า ประเด็นไลฟ์ ตอนที่เราทำแคมเปญเลือกตั้ง ต้องเข้าถึงคนหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก

“ผมไปตลาด เด็ก 8-9 ขวบรู้จักชัชชาติหมดเลย ผมถามรู้จักจากไหน ในติ๊กต๊อก เอาเราไปใส่ติ๊กต็อก แม่บอกว่า ลูกชายสั่งให้มาเลือก นี่คือซอฟต์เพาเวอร์ของจริง โซเชียลมีเดียมีพลังในการสื่อสาร พอลูกพูด แม่ก็มาดูนโยบายเรา” นายชัชชาติกล่าว และว่า

เรามีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ตัวการ์ตูน มีไลน์ พลังในการสื่อสารสำคัญ ที่เราได้คะแนน ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ประชาชนสนใจว่าเอาเงินภาษีไปทำอะไร พอเราไลฟ์เขาก็ให้ความสนใจ ไลฟ์ไม่ได้บังคับให้ดู แบบมีทุกช่องหมด ไม่ดูก็ได้ ไม่มีใครบังคับ เป็นทางเลือก บางเรื่องก็เป็นเรื่องไร้สาระ

“วันนั้นผมไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ คนดู 4 ล้านกว่าคน คงมีความสุข มันเป็นออฟชั่น ไม่ได้บังคับ แต่ผมชอบตรงที่มีฟีดแบ๊ก ทีมงานเก็บฟีตแบ๊กไป มีคนตื่นตี 5 มาวิ่งตาม มันคือพลังบวก

มีอันนึงที่ผมอึ้งไปเลย วันอาทิตย์ ไปเดินในสวน มีผู้เด็กหญิงคนนึงบอกว่า หนูเป็นโรคซึมเศร้า หนูดูไลฟ์อาจารย์แล้วมีพลังใช้ชีวิต แค่นี้ผมก็ยอมทุ่มทั้งชีวิตในการไลฟ์แล้ว นี่คือสิ่งที่ให้กำลังใจเรา” นายชัชชาติระบุ

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า เราไม่ได้แกล้งราชการ บางทีราชการก็ต้องตื่นตัว เขาก็แอคทีฟขึ้น ผมบอกพี่น้องเพื่อนร่วมงานเสมอ ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’ เราคือแบ๊กอัพของเขา ไม่ต้องกลัวพูดผิดพูดถูก อาจจะสื่อสารผิดพลาด เรารับผิดแทนเขาเลย ว่าเราไปไม่บอกล่วงหน้า เขาเลยไม่ได้เตรียมข้อมูล” นายชัชชาติเผย

เมื่อถามถึงวิธีการสื่อสารของนายชัชชาติ ซึ่งไลฟ์มีคนดูสด 40,000-50,000 คน ส่วนคลิปดูตั้งแต่ 4,000,000 – 5,000,000 วิว การเล่าปัญหา และแก้ปัญหาให้ประชาชน มีวิธีการอย่างไร ?

นายชัชชาติกล่าวว่า ขั้นแรก เราต้องมีกึ๋น สะสมความรู้เรื่องที่เราจะไปดู ถ้าเราเข้าใจเรื่องนั้นไม่ดี เราจะอธิบายให้เข้าใจไม่ได้ เหมือนวัวพันหลัก ต้องเข้าใจ ไม้รู้ก็หาอ่านก่อน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่รู้ บอกไม่รู้ แล้วหาข้อมูลมาเพิ่ม

ก่อนยกตัวอย่าง อย่างวันที่ 25 เดือนที่แล้ว (พฤษภาคม) ตนไปไลฟ์ ที่ลำสาลี มีเดดไลน์ที่จะฟอลโลว์ทางเขต ว่าจะไปดูวันที่ 25 มิถุนายน ก็มีการดำเนินการ เราก็น้อมรับทุกคำติชมไปปรับปรุง

เวลา 12.00 น. เมื่อนายสรกลถามว่า ถ้าผู้ว่าฯกทม. ทำงานกับนายกชื่อเศรษฐา จะง่ายขึ้นหรือไม่ ? นายชัชชาติกล่าวว่า “ถ้าหัวหน้าดี ก็จะดีครับ” สร้างความขบขันให้กับผู้ร่วมฟังเสวนา