รง.ผลิตเตาอั้งโล่ประหยัดพลังงานราชบุรี เผยยอดขายดีขึ้นตั้งแต่น้ำมันแพง แต่ถ่านหุงต้มปรับราคาขึ้นตาม

ชมรง.ผลิตเตาอั้งโล่ประหยัดพลังงาน ที่ราชบุรี เจ้าของเผยตั้งแต่น้ำมันแพงยอดขายดีขึ้น ถ่านหุงต้มปรับราคาขึ้น รับแคมเปญ ใช้เตาถ่านแทนเตาแก๊สของรัฐบาล

 

น.ส.พิชญดา พุ่มเลิศ อายุ 30 ปี เจ้าของโรงงานผลิตเตาประหยัดพลังงาน เปิดเผยว่า เตาอั้งโล่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน และได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันตนมาช่วยงานคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงงาน และเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งนอกจากโอ่งมังกรราชบุรี ยังมีเตาอั้งโล่ เนื่องจากที่จังหวัดราชบุรี มีดินเหนียวคุณภาพดีที่ใช้สำหรับใช้ปั้นโอ่งและปั้นเตาอั้งโล่กันมายาวนาน ที่โรงงานมีการผลิตเตาถ่านหลายประเภท อาทิ เตาประหยัดพลังงาน มีทั้ง ทรงแหลม และ ทรงตรง เตาอั้งโล่ หรือ เตาดำ เตาปิ้งย่าง เตาหมูกระทะ เตาขนมครก มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยเปิดจำหน่ายทั้งปลีก-ส่ง และ ยังส่งขายทั่วประเทศ ราคาจำหน่ายออกจากโรงงานจะเริ่มต้นที่ 80-270 บาท

สำหรับประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีหรือเตาซูเปอร์อั้งโล่ แทนเตาอั้งโล่ธรรมดานั้น มองว่า ปกติที่โรงงานจะผลิตเตาประหยัดพลังงานอยู่แล้ว มีทั้งรูปแบบ เตารูปทรงตัววี และ ทรงตั้งตรง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตรงที่การเก็บความร้อน ในขณะเผาไหม้ของถ่าน และ การรับน้ำหนักของหม้อต้ม
การปั้นจะเน้นปากของเตาที่จะค่อนข้างกว้าง และรังผึ้งจะหนากว่าเตาทั่วไป รูระบายอากาศเป็นรูปกรวย ช่วยไม่ให้ถ่านชิ้นเล็กหลุดร่วงลงบนขี้เถ้าและช่วยเรื่องการดูดอากาศ ทำให้ทำความร้อนได้สูงกว่า

เวลาใส่ถ่านไปจะเผาได้ช้ากว่า ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ทั่วไป 30-40 % ให้ความร้อนสูง อุณหภูมิกลางเตาประมาณ 1,000-1,200 องศาเซลเซียส มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบา วางภาชนะหุงต้ม (หม้อ) ได้ 9 ขนาด ตั้งแต่เบอร์ 16-32 ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้น และ อายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี อีกทั้งยังมีความแข็งแรง ใช้ถ่านในปริมาณน้อยไม่สิ้นเปลืองถ่าน และยังถูกกว่าการใช้แก๊สหุงต้ม แต่อาจจะเสียเวลาในขณะที่ติดเตาถ่าน ส่วนราคาขายที่โรงงาน 260-270 บาท ส่วนตามร้านค้าปลีกทั่วๆไป 290-300 บาท

นายประเชิญ นันยา อายุ 49 ปี แผนกจัดส่ง กล่าวว่า เตาอั้งโล่ เตาถ่าน หรือ เตาประหยัดพลังงานยังคงได้รับความนิยมสูง โดยตามร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ หรือ ตามบ้านเรือนแถวชนบท โดยเฉพาะยุคที่เชื้อเพลิงมีราคาสูงคนหันมาใช้เตากันมากขึ้น อย่างวันนี้นำเตาขึ้นรถยนต์กระบะ เพื่อไปส่งให้กับร้านค้า จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดพิจิตร มีทั้งเตาหุงต้มทั่วไป เตาถ่านขนาดใหญ่ และ เตาประหยัดพลังงาน ปกติแล้วก็จะวิ่งส่งไปยังทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง เฉลี่ยเดือนหนึ่งจะส่ง 5-6 เที่ยว อนาคตตนมองว่าคนจะหันมาใช้เตาถ่านกันเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตามร้านค้าที่ต้องมีการปรุงอาหาร เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายของแก๊สหุงต้มไม่ไหว ส่วนเตาซื้อครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ยาวนานกว่า 1-2 ปี ส่วนเชื้อเพลิงได้ทั้งถ่านสำเร็จ กิ่งไม้ทั่วไปก็นำมาเป็นเชื้อเพลิงได้

ขณะที่ จากกระแสดราม่าเรื่องของแคมเปญ ใช้เตาถ่านแทนเตาแก๊ส ในช่วงก๊าซหุงต้มราคาแพง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทน หรือโครงการ เตามหาเศรษฐี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมาถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในแคมเปญที่เกิดขึ้น ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วย ในเหตุผลนานาประการ ทั้งเรื่องความร้อนที่ไม่ทันใจ ทั้งเรื่องกลิ่นควัน ฝุ่น PM2.5 และกระทบถึงเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า

ในส่วนของถ่านหุงต้ม นายธีระ อมรพล พ่อค้าร้านของชำ ในพื้นที่ ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาทเปิดเผยว่า ตั้งแต่ก๊าซหุงต้มมีราคาแพง ทำให้คนหันมาใช้ถ่านกันมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลโดยตรงให้ความต้องการมีมากกว่าปริมาณถ่าน ทำให้มีการสั่งซื้อจากเตาเผาล่วงหน้าจำนวนมาก ส่งผลให้มีการปรับขึ้นราคาขายส่ง จากกระสอบละ 160 บาท ปรับขึ้นเป็น 180 บาท และราคาแบ่งขายปลีกจากราคาถุงละ 30 บาทก็จำเป็นต้องขึ้นเป็น 35 บาทในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะต้องมีการปรับขึ้นอีก เพราะผู้ประกอบอาชีพเผาถ่านบอกว่า ปัจจุบันไม้ที่จะนำมาเผาถ่านหายากกขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นการหันไปใช้เตาถ่านแทนเตาแก๊สเพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายนั้นไม่น่าจะถูกต้องตรงประเด็น เพราะถ่านหุงต้มเองก็มาการปรับราคาขึ้นตามความต้องการของตลาดด้วยเช่นกัน

ขณะที่ผู้ใช้แก๊สในการปรุงอาการเป็นหลักอย่างร้านอาหารตามสั่ง ก็มีเสียงสะท้อนออกมาว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเตาอั้งโล่ หรือเตามหาเศรษฐีมาใช้ในชีวิตประจำวันในการประกอบอาชีพขายอาหาร โดยนางจริยา เอี่ยมละออ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง เปิดเผยว่า การใช้เตามหาเศรษฐี ตามที่กระทรวงพลังงานออกมาแนะนำนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะชีวิตจริง การทำอาหารขายนั้น ต้องอาศัยความรวดเร็ว ในแต่ละจาน จะให้มาตั้งรอกระทะร้อน นั้นช้ามาก ใช้เวลาหลายนาที ไม่ทันลูกค้าแน่นอน และหากไม่ร้อนแล้ว อาหารก็เหม็นคาว ไม่สุก ลูกค้าอาจจะท้องเสียได้ แค่นี้ทุกคนก็ใช้ชีวิตลำบากแล้ว ค่าของสด เครื่องปรุง น้ำมัน ทุกอย่างพาเหรดขึ้นราคาอย่างไม่หยุดหย่อน จนร้านต้องแทบจะกราบขอโทษลูกค้าที่ต้องขึ้นราคาในบางเมนู ตั้งแต่ขายอาหารตามสั่งมา 12 ปี ยังไม่เคยเจอ ของขึ้นราคา กาซที่แพงมากขนาดนี้ ทางร้านใช้แค่ 2 วัน ก็หมดถัง ในแต่ละครั้งที่สั่งก๊าซไป ต้องถามอยู่ตลอดว่าราคาเท่าไร เพราะราคาในช่วงนี้นั้นขึ้นอย่างเดียวไม่มีลงจริงๆ