ยูเอ็นเตือนโลกเผชิญนรกบนดิน จากอาหารขาดแคลน หลายประเทศเสี่ยงประท้วงลุกฮือ

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษรายงานว่า เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอาหารแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ ดับเบิลยูเอฟพี ได้กล่าวระหว่างลงพื้นที่ในกรุงอัดดิส อบาบาของเอธิโอเปียว่า โลกได้เผชิญภาวะอาหารขาดแคลนอันน่าสะพรึงซึ่งจะบั่นทอนเสถียรภาพหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกพืชธัญญาหารจากยูเครนและรัสเซีย ที่ทั้งสองประเทศกำลังสงครามกันกินเวลามาเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว

บีสลีย์กล่าวว่าราคาขนส่ง ปุ๋ย และเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากโควิด-19 วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสงครามยูเครน บีสลีย์กล่าวว่าจำนวนผู้ที่ทุกข์ทรมานจาก “ความหิวโหยเรื้อรัง” เพิ่มขึ้นจาก 650 ล้านคนเป็น 810 ล้านคนใน 5 ปีที่ผ่านมา

“แม้กระทั่งก่อนวิกฤตในยูเครน เรากำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเนื่องจากโควิด และราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น นั้นทำให้เราคิดว่าไม่มีอะไรเลวร้ายกว่านี้ได้อีก แต่สงครามนี้กำลังก่อหายนะแล้ว” บีสลีย์ กล่าว

บีสลีย์กล่าวเสริมว่าจำนวนผู้ที่ประสบ “ความหิวโหย” เพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านคนเป็น 325 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน พวกเขาจัดอยู่ในประเภทเผชิญวิกฤตของความไม่มั่นคงด้านอาหาร หมายความว่าคนกลุ่มนี้ “เดินไปสู่ความอดอยากและคุณไม่รู้ว่าอาหารมื้อต่อไปของคุณมาจากไหน” บีสลีย์ กล่าวและว่าหลังจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจในปี 2550-2552 การจลาจลและความไม่สงบอื่น ๆ ได้ปะทุขึ้นใน 48 ประเทศทั่วโลกเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

“ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เรามีในวันนี้นั้นแย่กว่าที่เราเห็นเมื่อ 15 ปีที่แล้วมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขวิกฤต ก็จะส่งผลให้เกิดความอดอยาก ความไม่มั่นคงของประเทศต่างๆ และการย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก” บีสลีย์ กล่าวอีกและว่า เราได้เห็นการจลาจลในศรีลังกาแล้ว และการประท้วงในตูนิเซีย ปากีสถาน และเปรู และเราได้ทำให้ความไม่มั่นคงเกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ เช่น บูร์กินาฟาโซ มาลี ชาด และนี่เป็นเพียงสัญญาณของสิ่งที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ บีสลีย์ ยังเรียกร้อง ประเทศร่ำรวยทั่วโลก ทุ่มเทความมั่งคั่งเพื่อจัดการกับความหิวโหยทั่วโลกในระยะยาว พร้อมกับเรียกร้องให้วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้สั่งการรุกรานยูเครนและยกตัวเองเป็นดั่งซาร์ปีเตอร์มหาราช เปิดทางเมืองท่าโอเดสซาของยูเครน ซึ่งกองทัพเรือรัสเซียประจำทะเลดำเข้าปิดล้อมไม่ให้เรือเข้าหรือออกโอเดสซาได้ และเป็นการใช้ความอดอยากเป็นการบีบยูเครนพร้อมกับทั่วโลกให้ต่อรอง

“นี่เป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวมาก เรากำลังเผชิญนรกบนดินหากไม่รีบทำอะไรซักอย่างในทันที สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้เลยคือหยุดสงครามบ้านี้ในรัสเซียและยูเครนและเปิดท่าเรือเพื่อส่งอาหารไปทั่วโลกให้ได้” บีสลีย์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของยูเครนกล่าวว่า ธัญญาหารกว่า 20 ล้านตันที่จะต้องส่่งออกยังคงติดค้างอยู่ในเมืองท่าโอเดสซาเพราะทัพเรือรัสเซียปิดกั้นน่านน้ำไม่ให้ออกไป ทำให้ผู้นำยุโรปหลายชาติ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง ได้เรียกร้องให้รัสเซียผ่อนคลายการปิดล้อมโอเดสซา ท่าเรือหลักของยูเครน เพื่ออนุญาตให้ส่งออกธัญพืชได้

ตามข้อมูลของ ดับเบิลยูเอฟพี ปริมาณของธัญพืช 40% ที่อยู่ในโครงการอาหารฉุกเฉินบรรเทาทุกข์นั้นมาจากยูเครน หลังจากที่ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (58 ล้านปอนด์) ต่อเดือน ทำให้ต้องมีการลดสัดส่วนการปันส่วนในหลายประเทศ