“ชัชชาติ” ลุยชุมชนคลองเตยรับฟังปัญหา หนุนลุยทำแซนด์บ็อกซ์ แก้จุดซับซ้อน-เร่งด่วน

ลงชุมชนคลองเตยรับฟังปัญหาแบบเจาะลึก พร้อมหนุนเขตลุยทำ Sandbox แก้จุดที่ซับซ้อนและเร่งด่วนก่อน เด็กขอลูกฟุตบอล ให้ไม่ได้ก็แย่แล้ว จ่อนำสายไฟลงดินเขตละ 20 กม.

วันที่ 19 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย ภายหลังตรวจเยี่ยมชุมชนคลองเตย 1 ชุมชนคลองเตย 2 และคลองเตย 3 เขตคลองเตยซึ่งเป็นเขตแรกตามนโยบาย “ผู้ว่าฯสัญจร 50 เขต” ว่า ก่อนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนวันนี้ ในช่วงเช้าได้ประชุมเพื่อรับฟังปัญหาของเขตคลองเตย ผู้อำนวยการเขตได้รายงานปัญหาในพื้นที่หลายเรื่อง เช่น เรื่องไฟฟ้าสองสว่างที่ไม่ติดหลายจุด ความล่าช้าในการเปลี่ยนหลอดไฟ ปัญหาการก่อสร้าง ปัญหาการจราจร ปัญหาหาบเร่แผง-ลอย ปัญหาสาธารณสุขชุมชน ปัญหาเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ปัญหาคนขายของและเช็ดกระจกตามสี่แยกที่มีจำนวนมากขึ้น รวมถึงปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง เป็นต้น โดยหน้าที่ของผู้บริหารคือสนับสนุนเขตให้ทำงานและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่

“วันนี้เป็นตัวอย่างที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาก ได้รับทราบปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริงในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ปัญหาน้ำท่วมขัง การเก็บขยะล่าช้า พอทราบปัญหาก็สามารถแก้ไขได้โดยตรง อีกทั้งเป็นการมาตรวจเยี่ยมแบบไม่นัดหมาย เป็นการพบประชาชนจริงๆ ที่ผ่านมาหลายครั้งประชาชนบอกว่า ผู้ว่าฯ มาเฉพาะตอนเลือกตั้ง พอหลังจากเลือกตั้งก็หายไปเลย แต่เราก็จะกลับมาและฟังประชาชน เราจะลงไปตรวจเยี่ยมเวียนกันไปทุกเขต ไม่เกินหนึ่งปี ครบ 50 เขต แน่นอน ถือว่าทำให้ข้าราชการตื่นตัวขึ้น รับฟังปัญหาโดยตรง เชื่อว่าจะเป็นมิติที่ทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น” ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า หลังจากรับฟังปัญหาต่างๆ ทั้งที่สำนักงานเขตรายงาน และที่ฟังจากประชาชนในพื้นที่มาแล้ว ให้นโยบายกับสำนักงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาเรื่องการขายของ – เด็กเช็ดกระจก ให้เลือกบริเวณแยกที่เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนเพื่อนำร่องให้กับจุดอื่นๆ ด้วย เป็นการช่วยแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนที่ลำบากต้องมาทำมาหากินบริเวณสี่แยก ส่วนปัญหาเรื่องสายสื่อสารรกรุงรัง จะเลือกเส้นทางที่สามารถตัดสายสื่อสารที่ไม่จำเป็นออก อาจจะยังไม่สามารถลงดินได้ทั้งหมดแต่อย่างน้อยตัดสายตายที่ไม่ได้ใช้งานออกแล้วรวบสายให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับผับ บาร์ มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ได้ให้คำแนะให้มีทางหนีไฟ และระบบป้องกันต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดสถานบริการตามที่ ศบค. กำลังจะผ่อนคลาย

ในส่วนใช้ระบบรับร้องเรียน Taffy Fondue เป็นอุปกรณ์ช่วยประชาชนในการแจ้งเหตุ โดยเขตคลองเตยมีประชาชนแจ้งมา 900 กว่าเรื่อง แก้ไขแล้ว 142 เรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบเพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น โดยจะประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น ตำรวจ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในระบบแจ้งเหตุนี้ต่อไป

“ต้องฝากว่า ทุกคนคงไม่ได้หวังให้กทม. แก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ทั้งหมด ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย ถ้าเรากังวลเรื่องน้ำเสียในคูคลอง ซึ่งกทม. ก็ช่วยเต็มที่ แต่ทุกคนก็ต้องลดการทิ้งขยะลงคลองด้วย ต้องช่วยกันดูแลหน้าบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ช่วยดูแลคนที่เปราะบางในชุมชนช่วยเหลือกันช่วยกัน และ กทม.จะทำหน้าที่เต็มที่ สุดท้ายก็จะเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ครบทั้งองค์กร” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงชาวกรุงเทพฯ

ต่อมาเวลา 14.05 น. นายชัชชาติเดินทางไปจนถึงจุดดับเพลิงชุมชน และได้พบกับชาวบ้านรายหนึ่ง ที่เข้ามาพูดคุยและบอกว่า “ผมเลือกคุณมา 1,380,000 กว่าคะแนน สู้ๆ ไอ เลิฟ ยู” ทางด้านนายชัชาติตอบกลับไปว่า “ไอ เลิฟ ยู ทู”

โดยในระหว่างลงพื้นที่ มีชาวบ้านในชุมชนคลองเตยนำกระเช้าข้าวต้มมัดไปมอบให้นายชัชชาติด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มโครงการผู้ว่าฯสัญจร คือ การเอาทีมคณะผู้บริหารลงมาเยี่ยมเยียนผู้อำนวยการเขต ทีมงาน และผู้นำชุมชน โดยจะลงพื้นที่ทุกวันอาทิตย์ จะไม่ไปรบกวนวันเวลาราชการที่จะต้องไปดูแลประชาชน

“ในวันอาทิตย์ถ้าเรามาเยี่ยม เราจะเจอพี่น้องประชาชนเยอะ เราเลือกคลองเตย เพราะคลองเตยเป็นชุมชนที่มีปัญหาค่อนข้างหลากหลาย และเชื่อว่าถ้าเราแก้ปัญหาคลองเตยได้ หลายๆ อย่างเอาไปใช้กับเขตอื่นๆ ได้ โดยในที่ประชุมเมื่อช่วงเช้า ผอ.เขตคลองเตยได้พูดถึงปัญหาหลายจุด เช่น ไฟฟ้าไม่ติดหลายจุด การก่อสร้าง หาบเร่-แผงลอย ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน นักท่องเที่ยวต่างประเทศ การเร่ขายของตามสี่แยก ซึ่งเรารับเรื่องมาและได้ตั้งเป้าหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปัญหาสายสื่อสารที่รกรุงรัง อาจจะไม่ได้เอาลงดิน แต่จะเลือกตัดสายที่ไม่ได้ใช้ออก เพื่อไม่ให้บดบังสายตา และรวบให้ชัดเจนมากขึ้น ปัญหาผับ-บาร์ เรากังวลเรื่องความปลอดภัย เรื่องไฟไหม้ จึงให้กำหนดจุดทางหนีไฟต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดสถานบริการตามที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กำหนด ส่วนปัญหาทราฟฟี่ ฟองดูว์ กำลังปรับปรุงการทำงานเพื่อให้สะดวกรวดเร็ว และตอบโจทย์ประชาชนได้มากขึ้น เป็นมิติใหม่ ที่ประชาชนจะได้เห็น แจ้งเช้า แก้บ่าย ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งประสานกับหน่วยงานนอกหน่วยมาเป็นส่วนนึงของการแก้ปัญหาด้วย

นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า วันนี้เด็กๆ ในชุมชนขอลูกฟุตบอล เพราะมีสนามกีฬา มีลานกีฬา แต่ไม่มีลูกฟุตบอล น้ำท่วมขัง ขยะเก็บช้า ก็จะรับทราบและไปแก้ไข

“ที่ผ่านมา หลายครั้งชาวบ้านบอกว่า ผู้ว่าฯกทม.มาเฉพาะเลือกตั้ง พอหลังเลือกก็หายไม่กลับมาอีก แต่เราจะกลับมารับฟังอีก จริงๆ มี 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องทำ 1.โปร่งใสไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ใครเอาชื่อเราไปอ้าง ไม่มีนะ แจ้งมาได้เลย 2.ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แจ้งปุ๊บ แก้ปั๊บ และ 3.ให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน ลงพื้นที่บ่อยๆ ผมเชื่อว่าประชาชนจะรักเรา และสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่เรื่องใหญ่ เด็กขอแค่ลูกฟุตบอลถ้าเราให้เขาไม่ได้ก็แย่แล้ว ไม่ได้ขอสนามโอลิมปิก ผมว่าชาวบ้านน่ารัก ไม่ได้ขออะไรเกินความจำเป็น” นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องสายไฟที่จะมีการดำเนินการจะเริ่มได้ตอนไหน นายชัชชาติกล่าวว่า เริ่มได้เลย คือ สายไฟมี 2 แนว คือ สายตาย ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ตัดออกได้เลย ไม่ยากขอประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้แล้ว พอเอาออกไปก็จะสะอาดขึ้นแล้ว จากนั้น ขั้นตอนต่อไปอาจจะลงดิน

“หลักการคือ อย่าเพิ่งทำทั้งเขต อาจจะให้ทำเขตละ 20 กิโลเมตร โดยเลือกจุดที่เชื่อมต่อกัน เช่น คลองเตย ไปต่อปทุมวัน และทำให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน และสามารถไปขยายผลต่อได้ ดังนั้น ในเดือนแรกต้องเห็นแล้วว่าจะไปทำอะไรที่จุดไหนบ้าง” นายชัชชาติกล่าว