ชัชชาติ : ลุยผู้ว่าฯสัญจรที่แรกในคลองเตย ปลูกต้นไม้-ถกปัญหาศก. เผยมีร้องเรียนแล้ว 900 เคส

เริ่มแล้ว! ผู้ว่าฯกทม.สัญจร ชัชชาติลุยคลองเตยพื้นที่แรก ปลูกต้นไม้ ถกปัญหาเศรษฐกิจ เร่งแก้ปมในชุมชน ชาวคลองเตยร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ แล้ว 900 เคส แก้ได้ 142 เรื่อง

วันที่ 19 มิถุนายน ที่สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า (ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เขตคลองเตย) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่เขตคลองเตย ตามโครงการผู้ว่าฯกทม.สัญจรเป็นเขตแรก โดยร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ มีนายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนะเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาวปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และคณะผู้บริหาร กทม. เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปลูกต้นไม้ในวันนี้ จะปลูกต้นไม้ประมาณ 40 ต้น โดยแบ่งเป็น ต้นพิกุล 5 ต้น ต้นขี้เหล็ก 10 ต้น ต้นมะกอกน้ำ 5 ต้น ต้นชะมวง 5 ต้น ต้นมันปู 10 ต้น และต้นมะดัน 5 ต้น ซึ่งนายชัชชาติ และคณะผู้บริหาร กทม. จะดำเนินการปลูกต้นพิกุลทั้ง 5 ต้น

ต่อมาเวลา 07.43 น. นายชัชชาติ เดินทางมาถึงที่หมาย และได้ทักทายกลุ่มผู้บริหาร และคณะทำงานของ กทม. ที่มารอต้อนรับ และได้เริ่มเดินชมศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมี ผอ.เขต และพนักงาน กทม.คอยอธิบายตามจุดต่างๆ

 

เวลา 08.03 น. นายชัชชาติได้ทำการหว่านข้าวลงนาข้าวจำลอง ที่ทางศูนย์ฯได้จัดทำไว้เพื่อให้ประชาชนที่มาพักผ่อนได้ศึกษา โดยนายชัชชาติได้ชวนสื่อมวลชนมาร่วมหว่านด้วย

นายชัชชาติกล่าวระหว่างการเดินชมศูนย์ฯว่า บังเอิญตนมีธุระแถวนี้ช่วงกลางวัน เลยต้องเอาภารกิจเรามาไว้ใกล้หน่อย แต่ว่าสุดท้ายก็จะเดินทางไปทุกเขต แต่ไปคลองเตยก็ดีมันมีทั้งปัญหาชุมชน และหากแก้ปัญหาที่ชุมชนคลองเตยได้ที่อื่นๆ ก็แก้ได้เช่นกัน เพราะมันมีตัวอย่าง มีทั้งชุมชนแออัดขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ โครงสร้าง น้ำท่วม ตลาด ปัญหากรุงเทพฯมันเยอะ แต่มันซ้ำ ถ้าทำต้นแบบให้ได้ซักอย่างนึงเราจะขยายผลได้เร็ว

 

ระหว่างเดินชมศูนย์การเรียนรู้ นายชัชชาติได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานกวาดถนนของทาง กทม. ถึงเรื่องสวัสดิการ ซึ่งพนักงานรายดังกล่าวได้เล่าให้นายชัชชาติฟังว่า ก็มีในส่วนของสวัสดิการรักษาพยาบาล ก่อนหน้านี้พ่อเพิ่งผ่าตัดก็สามารถเบิกได้

เมื่อนายชัชชาติถามว่า อยากได้สวัสดิการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พนักงานรายดังกล่าวระบุว่า สิ่งที่อยากได้เพิ่มเติมคงเป็นสวัสดิการเรื่องของการเสี่ยงภัย เนื่องจากว่าปฏิบัติงานบนท้องถนน ก่อนที่จะส่งกำใจให้บอกว่า “สู้ๆ คนสู้ชีวิต เก่งมากๆ”

และในเวลา 08.39 น. นายชัชชาติเดินสำรวจทางเท้าบริเวณ แยก ณ ระนอง พร้อมทีมผู้อำนวยการเขตคลองเตย

โดยในเวลา 08.53 น. นายชัชชาติเดินทางมาถึงสำนักงานเขตคลองเตย เพื่อร่วมหารือถึงปัญหาของเขตคลองเตย และหาวิธีแก้ไขร่วมกัน โดยมีคณะผู้บริหาร กทม. และ ผอ.เขตคลองเตย ร่วมการประชุม

จากนั้น ชัชชาติ เปิดเผยก่อนเข้าร่วมการประชุมร่วมกับทางคณะผู้บริหารสำนักงานเขตคลองเตยว่า ในวันนี้จะมีการประชุมพูดคุยการบริหารจัดการปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต สำนักงานเขตคลองเตย

ซึ่งได้แก่ 1.ปัญหาการปฏิบัติงาน คือ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง ปัญหาสายสื่อสาร ปัญหาการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก ณ ระนอง ปัญหาสายไฟฟ้าลงดิน ทางเท้าพระรามที่ 4 (ช่วงทางรถไฟ ถึงถนนรัชดาภิเษก) ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทาน ปัญหากลุ่มคนเช็ดกระจกบริเวณแยกไฟแดง ปัญหาผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ปัญหาจากข้อกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องมี Vaccine Passport

2.ปัญหาการใช้งาน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) คือ การอัพโหลดสถิติยังไม่เป็นปัจจุบัน ส่งต่อเรื่องให้หน่วยงานอื่นแล้ว แต่ยังเป็นเรื่องค้างของสำนักงานเขต หน่วยงานที่อยู่นอกเหนือสังกัด กทม. บางหน่วยงานไม่เข้าร่วมกับทราฟฟี่ ฟองดูว์ การค้นหาเรื่องที่ผ่านไปแล้วหลายวัน ทำได้ไม่สะดวก รายละเอียดที่แจ้งกับพิกัดจุดร้องเรียนที่แจ้ง ไม่ตรงกับที่เกิดเหตุ การพูดคุยกับผู้แจ้ง ไม่มีการตอบกลับ จึงไม่สามารถแก้ไขเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาได้ การส่งเรื่องซ้ำๆ จากผู้ร้องเรียนคนเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับการร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในพื้นที่ กทม. มีการร้องเรียนมาแล้ว 20,000 กว่าเรื่อง มีบางเรื่องที่สามารถแก้ได้ทันที แต่มีบางเรื่องที่ต้องประสานให้แก้

“หากมีร้องเรียนมา อย่าพูดว่าไม่เกี่ยวข้อง ต้องบอกว่าทาง กทม.กำลังเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาที่มีการร้องเรียนมาเยอะในช่วงนี้ เช่น เรื่องการที่มี เยาวชน เด็ก มาขายของ เช็ดกระจกบนถนน ก็ถูกร้องเรียนมาเยอะ โดยเฉพาะที่แยก อโศกแยกคลองเตย ฯลฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเยาวชน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากมีการแก้ไขต้องประสานความร่วมมือกันทั้งหน่วยงานของ กทม. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“สำหรับเขตคลองเตยเอง ในขณะนี้มีการแจ้งปัญหาเข้ามาแล้ว 900 เรื่อง ทำการรับเรื่องแล้ว 600 เรื่อง และแก้ไขเสร็จแล้ว 142 เรื่อง”  นายชัชชาติกล่าว