ก้าวไกล-ก้าวหน้า จับมือฉลองสมรสเท่าเทียมผ่านสภาวาระแรก

ปักธงความเท่าเทียม ก้าวไกลจัดเสวนาก้าวต่อไปหลังสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรก พร้อมปาร์ตี้สุดพิเศษ Progressive Pride Party โดยคณะก้าวหน้า เพื่อฉลองวาระแห่งความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

 

เมื่อวานนี้ (18 มิถุนายน 2565) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับซีรีส์วาย GMM และปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงและนางแบบ ร่วมเสวนาถึงก้าวต่อไปของร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม โดยมีพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “อนาคตกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม สู่ความหวังสังคมที่คนเท่ากัน” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ภายในงาน ธัญวัจน์ได้เปิดเผยความรู้สึกวินาทีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกไว้ว่า “จริงๆ วันนั้นตื่นขึ้นมารู้สึกมืดมิดแต่ในใจก็คือต้องทำให้ได้ ตอนประกาศปุ๊บมันเห็นเหมือนแสง เห้ย เราได้จริงๆ ด้วย เรารู้สึกมันเป็นมง(ลง)ประชาชน หลายคนยังมีความคิดและการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ แม้แต่ในรายงานรัฐสภา ที่บอกว่าพวกเราผิดธรรมชาติ จึงต้องใช้กฎหมายแยกออกไป ซึ่งธัญพยายามจะบอกว่า เราบินไปดาวอังคาร เรายอมรับธรรมชาตินั้น แต่เราไม่ยอมรับคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ได้ยังไง”

ธัญวัจน์กล่าวต่อไปว่า ตนเองเชื่อว่า ส.ส. ทุกคนทำงานตามหน้าที่ แต่ที่สุดแล้วทุกคนต้องมีหัวใจด้วย และการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระแรกนี้มันทำให้เห็น ส.ส. ที่มีหัวใจ ธัญวัจน เผยต่อไปถึงอนาคตของสมรสเท่าเทียมในวาระ 2 ว่าไม่ง่าย แต่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็มีปัญหาในตัวเอง ยังไม่ให้สถานะคนหลากหลายทางเพศเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ ดังนั้นตนต้องทำงานต่ออย่างหนักเพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ผ่านให้ได้ โดยเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดคือประเทศไทยมีกฎหมายมรสเท่าเทียมเป็นพื้นฐาน ทุกคนจดทะเบียนสมรสได้ แต่ก็มี พ.ร.บ. คู่ชีวิตด้วย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากจดทะเบียนคู่ชีวิต

ขณะที่นพณัช ในฐานะผู้กำกับซีรีส์วายชื่อดังหลายเรื่อง กล่าวว่าส่วนตัวเป็นคนที่อินกับประเด็นนี้ เคยมีโอกาสได้เดินพาเหรดไพรด์ที่ไต้หวัน และรู้สึกว่าหัวใจพองฟูหลังทราบว่าพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรก นพณัชยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้กำกับซีรีส์วาย และได้อธิบายความสัมพันธ์ของซีรีส์วายกับการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิว่า จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายมาจากความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ได้มีหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลาย แต่ปัจจุบันในฐานะผู้ผลิต ก็ต้องพยายามบาลานซ์ทั้งความบันเทิงและเรียกร้องสิทธิไปพร้อมๆ กัน ตอนนี้ซีรีส์วายรวมถึงซีรีส์ LGBT กำลังรวมทั้งความบันเทิงและการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเข้าด้วยกัน ผู้กำกับซีรีส์ “เพราะเราคู่กัน” ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องที่สังคมสงสัย ว่านักแสดง ไอดอล สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อนได้หรือไม่ พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่มีนโยบายห้ามนักแสดงและไอดอลในการแสดงออก “คุณต้องรับรู้ว่าคุณคือไอดอล และมีอิทธิพลต่อความคิดของเยาวชน ไอดอลหนึ่งคนมีคนติดตามกว่าล้านคน การที่จะโพสต์อะไร ต้องคิดก่อนและรับผิดชอบต่อความเห็นที่คุณแชร์ ก็จะเห็นนักแสดง และน้องๆ ในซีรีส์วายหลายคนออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้” เขาสรุป

ด้านปอย ตรีชฎา เปิดเผยว่าที่ผ่านมา มีการติดต่อตนเพื่อให้แสดงภาพยนต์ที่มีตัวละครเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ตนเลือกที่จะปฏิเสธไป เพราะในวงการบันเทิงยังคงมีเนื้อหาผลิตซ้ำค่านิยมที่ส่งผลต่อความคิดของสังคมและลดทอนคุณค่าของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และตนเองไม่พร้อมจะเล่นละครที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เมื่อถูกถามว่าประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ เช่นประเทศจีน มีปัญหามากน้อยแค่ไหน ปอย ตรีชฎา อธิบายว่า แม้จะไม่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่สังคมก็มีความพยายามให้ความรู้แก่ประชาชน เบื้องหน้าทางกฎหมายและวงการบันเทิง จะไม่มีการระบุชี้ชัดเรื่องเพศ แต่ระบุถึงความรัก ความรู้สึก โดยไม่ตรงเน้นว่าเราเป็นอะไร ส่วนกรณีสมรสเท่าเทียม ปอย ตรีชฎา ย้ำว่าการผ่าน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิใครเลย แต่เป็นการคืนสิทธิให้คนผ่านกฎหมายฉบับนี้
.
นอกจากงานเสวนาดังกล่าว ยังมีกิจกรรม Progressive Pride Party 2022 จัดโดยคณะก้าวหน้า ภายในธีม Stranger Things เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกมองแตกต่างออกไป การจัดงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม พร้อมกับเชิดชูความหลากหลาย สะท้อนตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ