ส่งสัญญาณ ขึ้นค่าเอฟที! งวดสุดท้ายก.ย.-ธ.ค. มีโอกาสทะลุ 40 สตางค์/หน่วย

กกพ.ส่งสัญญาณ ขึ้นค่าเอฟที งวดสุดท้ายก.ย.-ธ.ค. มีโอกาสทะลุ 40 สตางค์/หน่วย เหตุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นกว่า 40%

วันที่ 17 มิ.ย.65 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ไขข้อข้องใจ…รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2565) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากเดิมประมาณการไว้จะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์/หน่วย เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 40% จากเดิมคาดว่าจะใช้แอลเอ็นจีประมาณ 30% หลังต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้น

ขณะที่ กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง และการรับก๊าซจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงแพงขึ้น แต่เอฟทีงวดสุดท้ายจะปรับขึ้นเท่าไหร่ ยังต้องติดตามประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้

“เบื้องต้นคาดว่ค่าเอฟทีงวดสุดท้าย จะปรับขึ้นไม่ถึง 5 บาท/หน่วย และการปรับขึ้นในรอบนี้ ยังไม่รวมกับภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบกรับไว้ ที่ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมในส่วนนี้จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงปรับขึ้นอีกกว่า 1 บาท/หน่วย ซึ่งการปรับค่าเอฟทีขึ้นช่วงปลายปีนี้จะเป็นการปรับครั้งเดียวจบตามที่รมว.ส่งสัญญาณหรือไม่ ต้องติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก แต่ส่วนตัวมองว่าค่าเอฟทีจะยังต้องมีการปรับต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพราะต้นทุนราคาเชื้อเพลิงยังผันผวน”

โดยในระยะสั้น กกพ.ได้เร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง โดยการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ด้วยการยืนปลดโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ จากเดิมมีกำหนดในปี 2564 ออกไปเป็นปี 2565 เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงเข้ามาผลิตไฟฟ้า รวมถึงออกประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม ซึ่งมปัจจุบันมีทั้งโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) แล้วประมาณ 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกราว 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ที่จะเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม

สำหรับสถานการรณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยที่ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า หรืออยู่ที่สัดส่วนประมาณกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซส่วนใหญ่ได้มาจากอ่าวไทย 65% อีก 12% มาจากแหล่งก๊าซในเมียนมา และอีก 10% มาจากการนำเข้าแอลเอ็นจี