ผลศึกษาอังกฤษชี้ ติดโอมิครอนเสี่ยงเป็นลองโควิดน้อยกว่าเดลต้า 20-50%

ผลศึกษาอังกฤษชี้ ติดโอมิครอนเสี่ยงเป็นลองโควิดน้อยกว่าเดลต้า 20-50%

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากผลการศึกษาของอังกฤษที่ผ่านเพียร์รีวิวและตีพิมพ์ลงวารสารแลนเซตเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เปิดเผยว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสทำให้เกิดลองโควิดน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดก่อนหน้านี้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิง คอลเลจ ลอนดอน ใช้ข้อมูลจะแอพพลิเคชั่น ZOE COVID Symptom และพบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิดในช่วงที่สายพันธุ์โอมิครอนระบาดในอังกฤษมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นลองโควิดน้อยกว่า 20-50% เมื่อเทียบกับช่วงที่เชื้อเดลต้าระบาด

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวขึ้นอยู่กับอายุและระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายของผู้ป่วย โดยในผลการศึกษาระบุว่า ความเสี่ยงเป็นลองโควิดหลังจากติดเชื้อโอมิครอนน้อยกว่าเดลต้า เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มและไม่พบความแตกต่างใดเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีด 3 เข็ม

ทีมนักวิจัยเชื่อว่าผลการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงวิชาการชิ้นแรกที่ชี้ว่าเชื้อโอมิครอนไม่ได้มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดลองโควิดมากขนาดนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนผู้ป่วยลองโควิดจะลดลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดมีมากขึ้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยเป็นลองโควิดมากขึ้นตามไปด้วย

หน่วยงานสถิติของอังกฤษระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วยลองโควิดหลังจากติดเชื้อโอมิครอน 438,000 คนในอังกฤษ คิดเป็น 24% ของผู้ป่วยลองโควิดทั้งหมด

ผลการศึกษาของคิงคอลเลจระบุว่า ผู้ป่วย 4.5% จาก 56,003 คนในช่วงที่โอมิครอนระบาดหนักระหว่างเดือนธันวาคม 2021-มีนาคม 2022 รายงานว่า ป่วยเป็นลองโควิด ในขณะที่ช่วงที่เดลต้าระบาดระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2021 มีผู้ป่วย 10.8% จาก 41,361 คน รายงานว่าป่วยลองโควิด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เปรียบเทียบระหว่างผู้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ อาการลองโควิดเป็นอาการป่วยระยะยาว ซึ่งมีตั้งแต่อ่อนเพลียไปจนถึงภาวะสมองล้า ซึ่งอาจมีอาการยาวหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน โดยอาการของลองโควิดค่อยๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขจึงทำให้บรรดานักวิจัยต้องเร่งหาข้อมูลว่า เชื้อโอมิครอนทำให้มีโอกาสเกิดลองโควิดเหมือนเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้าหรือไม่