ม.หอค้าหั่นจีดีพีเหลือ 3.1% ชี้ไทยขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % ฉุดศก.0.1%

ม.หอค้าหั่นจีดีพีเหลือ 3.1% ชี้ไทยขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % ฉุดศก.0.1%

 

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ได้ปรับลด ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จากเดิม 4.2% เหลือ 3.1% ภายใต้กรอบ 2.9-3.5% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่องที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เงินเฟ้อคาดถึง 6% สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาอยู่พอสมควร รวมถึงสงครามสหรัฐ-ยูเครนยืดเยื้อ

ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ จากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นบวกมากกว่าปี 2564 คาดว่าช่วงครึ่งหลังปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5 ล้านคน และการเปิดประเทศ ทำให้มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเห็นธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น โดยเฉพาะผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ในปี 2564 ไม่มีการหมุนเวียนเม็ดเงินจากธุรกิจเหล่านี้ แต่หลังปลดล็อกจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 แสนล้านบาท

“ ระบบเศรษฐกิจโดยรวมตอนนี้เป็นเศรษฐกิจขาลง จากเดิมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตได้สูง 4% การค้าโลกโตอยู่ในกรอบ 6-7% แต่ตอนนี้เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันแพง ทำให้การค้าโลกย่อตัวลงอยู่ที่ 4% และเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 2.9% กลายเป็นจุดเสี่ยงที่หากราคาน้ำมันโลกแพง ซึ่งมองว่าจะวิ่งในกรอบ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ง่าย ถือเป็นแรงกดดัน อาจทำให้ราคาน้ำมันในไทยปรับสูงขึ้นอีก โดยราคาดีเซลควรอยู่ที่ 43-45 บาทต่อลิตร ทำให้หากราคาน้ำมันแพงขึ้นอีกจะกดดันปริมาณการค้าโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยการรัฐบาลยังเลือกประคองราคาน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังเลือกจะดูแลราคาพลังงาน และราคาพลังงานยังไม่เป็นแรงกดดันสูงเหมือนในประเทศอื่น ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปตามกลไลตลาดโลกอย่างแท้จริง ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริงมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้า ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ ออกเป็น 4 กรณี ได้แก่ 1.กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) บนฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินกว่า 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวชะลอตัวลง คาดการณ์จีดีพีโตเพียง 2.3% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 10% 2.กรณีที่แย่กว่า (Worse Case) จากผลคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) ทยอยปรับขึ้นราคาดีเซล แต่ไม่เกิน 40 บาทต่อลิตร

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% คาดการณ์จีดีพีโตที่ 2.9% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 20% 3.กรณีที่ดีกว่า (Better Case) จากราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ราว 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น จึงคาดการณ์จีดีพีโตที่ 3.5% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 10% และ 4.กรณีฐาน (Base Case) จากการปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มรุนแรง คาดการณ์จีดีพีโตที่ 3.1% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ 60%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า มองว่ามีโอกาสการปรับขี้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนสิงหาคม 2565 อาจปรับขึ้นรวม 3 ครั้ง ส่วนการประชุมนอกรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ มองว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะการประชุมนอกรอบ จะต้องมีความผันผวนรุนแรง หรือมีเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่ทำให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

สถานการณ์ตอนนี้ หากมีประชุมนอกรอบ และขึ้นดอกเบี้ยทันทีในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจเป็นจิตวิทยาเชิงลบ แต่หากมีเงินไหลออกรุนแรง ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นว่าไทยสะกัดเงินเฟ้อช้า และไปส่งผลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลาดตราสารหนี้ของไทย อาจต้องมีประชุมฉุกเฉินเพื่อขึ้นดอกเบี้ยก่อน แต่ขณะนี้เชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นเร็วกว่ากำหนด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุก 0.25% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ติดลบ 0.1%