“ญี่ปุ่น” ดึงเงินกองทุนบำนาญ หนุนลงทุน “สตาร์ตอัพ”

“ญี่ปุ่น” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก แต่กลับมีการเติบโตของ “สตาร์ตอัพ” ค่อนข้างต่ำ หากเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีนโยบายผลักดันการขยายตัวของธุรกิจสตาร์ตอัพภายในประเทศมากขึ้น โดยใช้เม็ดเงินจากกองทุนบำนาญเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปรับกลยุทธ์การลงทุนของ “กองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อการลงทุนของรัฐบาล” (GPIF) เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศ

การผลักดันนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน “การออกแบบครั้งใหญ่” (grand design) ของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งเปิดตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย “ทุนนิยมใหม่” ของนายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ที่ต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ประสบภาวะซบเซามาเป็นเวลานาน

นอกจากการจัดสรรเม็ดเงินจาก GPIF มาลงทุนในสตาร์ตอัพเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังจะมีมาตรการส่งเสริมสตาร์ตอัพในด้านอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัพอีก 10 เท่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันจำนวนสตาร์ตอัพญี่ปุ่นยังคงตามหลังประเทศเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ โดยมี “ยูนิคอร์น” หรือบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียง 6 บริษัท เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีถึง 614 แห่ง และจีน 174 แห่งข้อมูลของบริษัทวิจัย ซีบี อินไซต์ส

แผนการดังกล่าวยังเป็นข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดว่าจะมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนของ GPIF เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพในลักษณะใดและสัดส่วนการลงทุนเท่าใด แต่คาดว่า จะเป็นไปในรูปแบบการลงทุนหุ้นนอกตลาด และรูปแบบกองทุนร่วมลงทุน

ปัจจุบันกองทุน GPIF ญี่ปุ่นนับเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 199 ล้านล้านเยน ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการลงทุนในตราสารทุนและพันธบัตรประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงลงทุนในทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์และหุ้นนอกตลาด ในสัดส่วน 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมดหรือราว 10 ล้านล้านเยน แต่การลงทุนทางเลือกเหล่านี้ในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในเดือน มี.ค. 2021 มีการลงทุนทางเลือกเพียง 0.7% ของสินทรัพย์ทั้งหมด

“นาโอโกะ โอกาวะ” รองผู้อำนวยการสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น “เคดันเรน” ระบุว่า กองทุน GPIF สามารถทำกำไรระยะยาวจากสตาร์ตอัพได้ และนับเป็นเรื่องดีที่การสนับสนุนสตาร์ตอัพได้รับการรวมอยู่ในแผนการออกแบบครั้งใหญ่ของรัฐบาล

เช่นเดียวกับ “ฟูมิโกะ กาโตะ” ซีอีโอของ WAmazing สตาร์ตอัพบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่น ระบุว่า “แผนการลงทุนนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพเท่านั้น แต่ยังจะทำให้กองทุนบำนาญมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น”

แต่ก็ใช่ว่าสตาร์ตอัพจะประสบความสำเร็จเสมอไป จากบทเรียนของกองทุนวิชั่นฟันด์ ของ “ซอฟต์แบงก์” ที่ต้องเผชิญการขาดทุนครั้งประวัติการณ์ถึง 3.5 ล้านล้านเยน ในปีงบประมาณ 2021 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงสูง

การปรับกลยุทธ์การลงทุนของ GPIF เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพจึงอาจต้องเผชิญกับการคัดค้านของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นที่ดูแลกองทุน GPIF ซึ่งเคยคัดค้านการปรับพอร์ตลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาแล้วในสมัยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ

“ชินโกะ ไอเดะ” ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอในญี่ปุ่นชี้ว่า แผนการนี้จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดและโปร่งใส เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนของ GPIF จะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างแท้จริง มากกว่าเป็นเพียงนโยบายทางการเมือง