“อรุณี” จี้เร่งผ่าน กม.สมรสเท่าเทียม คืนความเป็นมนุษย์ ให้ทุกความรักมีสิทธิ์เท่ากัน

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงที่ประชุมรัฐสภากำลังพิจารณาร่างกม.สิทธิสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการชนกันระหว่าง ร่างพรบ.คู่ชีวิต ของฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลแต่ถูกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมองในฐานะกฎหมายแยกที่ปฏิบัติกับกลุ่มพวกเขา กับร่างแก้ไข ป.วิแพ่งฯม.1448 หรือที่เรียกร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กำลังดำเนินอภิปรายอย่างดุเดือดโดยเฉพาะข้อโต้แย้งที่หยิบยกทั้งในเชิงศีลธรรม ข้ออ้างหลักธรรมชาติ 2 เพศหรือหลักศาสนามาครอบทับสิทธิที่เรียกร้องความเท่าเทียม
.
โดยอรุณี กล่าวว่า
.
“พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” คืนความเป็นมนุษย์ ให้ทุกรักมีสิทธิ์เท่ากัน
.
ช่วงนี้หลายคนอาจเห็นห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ประดับประดาไปแถบเจิดจรัสทุกแห่งหน หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดียก็มีหลายคนเปลี่ยนกรอบรูปโปรไฟล์ให้เป็นเป็นสีรุ้งเหมือนที่หญิงทำก็ไม่ต้องแปลกใจกันนะคะ
.
เพราะว่าตลอดเดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือน Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองและความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดงาน บางกอก นฤมิต ไพร์ด พาเหรด การเดินขบวนพาเหรดสีรุ้ง เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีภาคเอกชนและประชาชนเข้าร่วมเดินขบวนด้วยมากมาย รวมไปถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้ง “พรรคฝ่ายค้าน” และ “พรรคร่วมรัฐบาล”
.
ที่หญิงเล่ามาซะยืดยาวขนาดนี้นะคะ ก็เพื่อที่จะบอกค่ะว่าในงานเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นั้น มีตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งเข้าร่วมในขบวนพาเหรดและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ พร้อมกับกล่าวว่า
“สนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะให้สิทธิมากกว่าร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่ยังมีข้อจำกัด”
แต่มาในวันนี้ ส.ส.จากพรรคดังกล่าวกลับออกมาบอกว่า
“วิปรัฐบาลมีมติคว่ำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม”
พี่น้องคิดว่าอะไรกันคะที่ทำให้พรรคดังกล่าวเปลี่ยนจุดยืนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้ง ๆ ที่เวลาเพิ่งจะผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์ซะด้วยซ้ำ?
.
สำหรับตัวหญิงเอง หญิงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างเต็มที่ แต่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยรัฐบาล เพื่อปกป้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ได้รับความเท่าเทียมในสิทธิที่จะสมรสและสร้างครอบครัวเฉกเช่นชายและหญิงทั่วไป
.
หลายคนอาจจะสับสนนะคะว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับนี้แตกต่างกันอย่างไร หญิงจะอธิบายให้พี่น้องฟังคร่าว ๆ ค่ะ
.
“พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม vs พ.ร.บ.คู่ชีวิต”
.
ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล มีประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วในการสมรสระหว่างคู่สมรสต่างเพศ ให้ครอบคลุมไปถึงคู่สมรสที่เป็น LGBTQ+ โดยการแก้ไขการระบุเพศชาย-หญิง เป็นบุคคล และเปลี่ยนคำจากสามี-ภรรยา เป็นคู่สมรส โดยไม่ต้องบ่งบอกถึงกรอบของเพศ เพื่อให้คู่รักที่เป็น LGBTQ+ สามารถที่สร้างครอบครัวและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเหมือนกับคนไทยทุกคน
.
หญิงว่าคอนเซปต์ของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นั้นเรียบง่ายมาก ๆ คือ ในเมื่อชายและหญิงสามารถสมรส สร้างครอบครัว จัดการทรัพย์สิน และมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในทางกฎหมายร่วมกัน ตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เราก็แค่ไปแก้ไขกฎหมายนั้นให้ครอบคลุมไปถึงทุกคนในสังคม ง่ายที่สุดคือทำให้การสมรสเป็นเรื่องของบุคคล-บุคคล ไม่ใช่แค่ชาย-หญิง และถ้าเรายืนอยู่บนหลักการว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนสองคนจะไม่สามารถมีสิทธิสมรสกันเพียงเพราะพวกเขาเกิดมาเป็นเพศเดียวกัน
.
ในขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเสนอโดยรัฐบาล เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่เพื่อใช้กับคู่สมรสที่เป็น LGBTQ+ โดยเฉพาะ โดยจะเรียกคู่สมรส LGBTQ+ ว่าคู่ชีวิต และในหลาย ๆ ส่วนก็ได้รับสถานะและสิทธิไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษีของคู่สมรส และสิทธิในการอุ้มบุญ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต นั้นทำได้เพียงแค่รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน แต่ไม่สามารถอุ้มไปเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิง
.
อีกหนึ่งข้อแตกต่างที่ชัดเจนของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ การจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนนั้นจะไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิตหรือคู่สมรสชายหญิง แต่การจดทะเบียนคู่ชีวิตนอกสำนักทะเบียน มีค่าธรรมเนียมแพงกว่าคู่สมรสชายหญิง
– จดทะเบียนนอกสำนักทะเบียน
ชาย-หญิง รายละ 200 บาท (ค่ารถนายทะเบียนจ่ายตามสมควร) คู่ชีวิต รายละ 1,000 บาท (ค่ารถนายทะเบียน 1,000 บาท)
– จดทะเบียนตามสถานที่ที่ประกาศไว้
ชาย-หญิง รายละ 20 บาท คู่ชีวิต รายละ 500 บาท
– จดทะเบียนในท้องที่ห่างไกล
ชาย-หญิง รายละ 1 บาท คู่ชีวิต รายละ 100 บาท
– ค่าธรรมเนียมคัดสำเนาทะเบียน
ชาย-หญิง รายละ 10 บาท คู่ชีวิต รายละ 100 บาท
.
พอเห็นอย่างนี้ หญิงมีคำถามขึ้นมาในหัวเลยค่ะว่า การจดทะเบียนของคู่สมรส LGBTQ+ ลำบากยากเย็นกว่าคู่สมรสชาย-หญิงตรงไหนเหรอคะ ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนต่าง ๆ ถึงแพงกว่าเป็นเท่าตัวขนาดนี้ คู่สมรส LGBTQ+ แตกต่างกับคู่สมรสชาย-หญิงตรงไหน ถึงต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ในเมื่อพวกเขาก็เป็นมนุษย์และเป็นคนไทยไม่ต่างกันเลย
.
ทุกคนจะเห็นนะคะว่า ฐานคิดของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่บนพื้นฐานว่ากลุ่ม LGBTQ+ เป็นพลเมืองชั้นสองที่แตกต่างจากคู่สมรสชาย-หญิง ในสายตาของรัฐบาลที่เสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้มา จึงต้องตรากฎหมายอีกฉบับขึ้นมาเพื่อรองรับการสมรสของคนอีกกลุ่ม คำถาม คือ ทำไมเราไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันกับทุกคนได้เหรอคะ ทำไมจึงจะต้องมีกฎหมายอีกฉบับเพื่อรองรับการสมรสระหว่างมนุษย์ด้วย หรือรัฐบาลไม่ได้มองว่า LGBTQ+ มีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรี เท่ากับชาย-หญิงทั่วไป
.
“หยุดพรากความเป็นมนุษย์ เพราะทุกความรักมีค่าเท่ากัน”
.
ที่ผ่านมา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกเตะถ่วงจากรัฐบาลมาโดยตลอด พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้นมาแข่ง และถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มากมาย บ้างก็ว่าจะก่อเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา บ้างก็ว่าขัดกับหลักธรรมชาติของมนุษย์และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย แต่หญิงมองอย่างนี้ค่ะ
ทุกวันนี้คู่รัก LGBTQ+ ก็เผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ มากมายจากการไม่ถูกยอมรับโดยกฎหมาย เช่น การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การจัดการมรดกหลังคู่รักเสียชีวิต การทำธุรกรรมใด ๆ ร่วมกัน ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้เลย เพียงแค่รัฐยอมรับให้พวกเขาได้สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถึงที่สุด พวกเขาก็แค่รักกัน
“ความรักของพวกเขามันไม่มีสิทธิ์เท่ากับความรักของคนอื่น ๆ เหรอคะ?”
.
ในวันนี้จะมีการลงมติร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะเข้าสู่พิจารณาของสภาฯ จะเป็นย่างก้าวสำคัญของประชาธิปไตยไทย เป็นย่างก้าวสำคัญที่พี่น้อง LGBTQ+ จะได้รับความเป็นมนุษย์คืนกลับมาและถูกยอมรับในฐานะพลเมืองเช่นเดียวกับชายและหญิงทุกคน หญิงอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนช่วยกันติดตามและจับตามอง ว่ารัฐบาลจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชนของตัวเองอีกครั้งหรือไม่
.
เราไม่ต้องไปมองอะไรให้ใหญ่โตเลยค่ะ แค่ยืนอยู่บนหลักการว่า “ทุกคนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” และ “ทุกความรักมีสิทธิ์และคุณค่า” คุณไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQ+ ถึงจะสนับสนุน LGBTQ+ ได้ ขอแค่คุณเป็นมนุษย์คนนึงที่เห็นค่าและสนับสนุนมนุษย์อีกคนก็พอแล้วค่ะ