สมรสเท่าเทียม : สภาวุ่น! จวกรบ.ลักไก่ ชงกม.คู่ชีวิตพร้อม #สมรสเท่าเทียม อ้างหลักเดียวกัน

รัฐสภาวุ่น! จวกรบ.ลักไก่ ชงดันกม.คู่ชีวิตรวมสมรสเท่าเทียม อ้างหลักการเดียวกัน ฝ่ายค้านรับไม่ได้ ไม่โหวตด้วย ‘ภาคีสีรุ้ง’ บุก สภา จี้ ส.ส. โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของก้าวไกล

 

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 10.46 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ โดยเป็นฉบับที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ

ทั้งนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เสนอให้นำ 1.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่ ครม. เสนอ 2.ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ครม. เป็นผู้เสนอ และ 3.ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ที่เสนอ โดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. และคณะ มาร่วมพิจารณาพร้อมกัน เพราะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ

ทำให้ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ลุกขึ้นโต้ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเสนอให้ร่างกฎหมายที่เหลือมาพิจารณาร่วมกับร่างกฎหมายของพรรค ก.ก. ไปพร้อมกัน เพราะมีหลักการแตกต่างกัน ถ้าวิปรัฐบาลเห็นว่า เหมือนกันตรงไหน ก็เอาปากกามาวงให้ดูหน่อยว่า เกี่ยวเนื่องกันทำนองเดียวกันตรงไหน การที่รวมเล่มร่างกฎหมายมาแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีมติรวมเล่ม ตกลงใครสั่ง

“ส่วนที่บอกว่า เขาจะเอาแบบนี้ เขาคนนี้ที่นั่งในสภาฯ หรือเขาที่นั่งทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เราต้องวางหลักไม่ชัด ถ้าไม่เอาก็คือไม่เอา แต่อย่านำมารวมกัน พรรคร่วมฝ่ายค้านรับไม่ได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว 

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้รวมพิจารณา เพราะขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายประกบ ตนอยู่ในสภาฯ มาไม่เคยเห็น และตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 64 ระบุชัดเจนว่า ญัตติใดที่ถึงวาระการพิจารณาในที่ประชุมแล้ว การเสนอญัตติที่มีหลักการเดียวกันจะกระทำไม่ได้ การที่ ครม. เสนอกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันเข้ามาอีก 2 ฉบับ และส.ส.รัฐบาลอีก 1 ฉบับ แล้วประธานฯ รับรองญัตติและบรรจุเข้าระเบียบวาระ จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ผิด และหากมีการยื่นศาลรัฐธรรนูญ กฎหมายที่ประกาศใช้ก็ตกทั้งฉบับ ดังนั้นรัฐบาลอย่าดื้อดึงดัน เพราะจะทำให้เกิดความเสีย

ด้าน วิปรัฐบาลยืนยันว่า สามารถนำมาพิจารณาพร้อมกันได้ แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ลุกขึ้นยืนยันว่า ฝ่ายค้านกังวลว่า เราจะร่วมกระทำผิดด้วยไม่ได้ และเราไม่ได้ดื้อดึง เราจะเป็นองค์ประชุมให้ ไม่วอล์กเอาท์ แต่จะงดโหวต ซึ่งจะเป็นหลักฐานว่า ท่านจงใจขัดข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ขู่ ทำให้ นายชวนชี้แจงว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายสภาฯ​ ดูเรื่องนี้ ว่าเคยใช้ในข้อบังคับที่ 64 เพราะตนไม่ต้องการอะไรที่ผ่านไปแล้วมีปัญหา ซึ่งในข้อบังคับ 64 นั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสามารถทำได้ และเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 และ 2553 เรื่องการเสนอการใช้ที่ดินหวงห้ามที่ไม่ใช้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังคงถกเถียงกันไม่จบ จนในที่สุด นายชวน ได้ขอมติที่ประชุม แต่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรค พท. ได้ลุกขึ้นท้วงประธานว่า วันนี้การโหวตมีความหมายมาก เสียงละ 1 แสนบาท ดังนั้น ขอเตือนไว้ก่อนว่า อย่ากดบัตรแทนกัน และขอให้แพนกล้องไปให้ทั่วห้องประชุม เพราะวันนี้ยังไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิด ทำให้นายชวน แจงว่า ถ้าเป็นอย่างที่นายพิเชษฐ์พูด ขอให้ไปดำเนินคดีแจ้งความ เพราะหากพูดไปลอยๆ จะทำให้เสียหายต่อสภาฯ

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยให้นำร่างทั้ง 4 ฉบับมาพิจารณารวมกัน ตามที่นายชินวรณ์เสนอและให้ลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการแยกแต่ละฉบับ โดยที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงในส่วนนี้นานกว่า 1 ชั่วโมง

‘ภาคีสีรุ้ง’ กดดัน ส.ส.โหวตรับสมรสเท่าเทียม

ขณะที่เวลา 10.50 น. น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ พร้อมด้วยภาคประชาสังคมที่ทำงาน เพื่อสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองการจัดตั้งครอบครัวที่เท่าเทียม และเป็นธรรมให้กับทุกเพศ ยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะการทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์

โดย น.ส.ชุมาพร กล่าวว่า วันนี้จะมีการประชุมสภาฯ ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของความเป็นธรรมทางเพศอีกครั้ง เพราะจะมีการพิจารณากฎหมายที่คุ้มครองสิทธิการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีข่าวว่า มติวิปรัฐบาลจะให้สภาฯ พิจารณาทั้ง 4 ฉบับไปในคราวเดียวกัน เพราะมีหลักการและรายละเอียดทํานองเดียวกัน และเมื่อพิจารณาเสร็จจะแยกลงมติ เบื้องต้น คือ จะไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่วนอีก 3 ฉบับจะให้รับหลักการ

น.ส.ชุมพร กล่าวต่อว่า ในนามของนักกิจกรรม และภาคประชาสังคมฯ รู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งที่รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มีมติไม่รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 1 ทั้งที่เนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับนี้ใกล้เคียงกับการรับรองสิทธิ์ เพื่อสมรสเท่าเทียมมากที่สุด อีกทั้งเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 54,000 คน

ในทางกลับกัน เมื่อมีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ออกมาสู่สาธารณะ กลับมีเนื้อหาที่ยังคงเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพศหลากหลาย มีกรอบการเขียนกฎหมายเป็นทวิเพศ ซึ่งขัดกับอัตลักษณ์และตัวตนของกลุ่มความหลากลายทางเพศ ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองที่ครอบคลุมเหมือนการจดทะเบียนคู่สมรส และที่สำคัญแม้แต่ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนก็ตั้งในราคาที่สูง ทั้งที่ในการบริการของรัฐให้กับคู่รักต่างเพศไม่มีค่าธรรมเนียม

น.ส.ชุมพร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กลุ่มนักกิจกรรมจะมีการจัดกิจกรรมนำภาพ ส.ส.และส.ว. ทั้ง 500 คน ขึ้นบอร์ดบริเวณลานประชาชนรัฐสภา และติดตามผลโหวตว่าใครไม่สนับสนุนความเท่าเทียม ถ้ามีมติไม่รับหลักการ จะมีการนัดชุมนุมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ (BACC)