กัญชา : ป้ายรณรงค์ใช้แบบปลอดภัย ผุดหน้ารพ.ทั่วประเทศ สธ.จ่อออกกฎคุมจำกัดใช้งาน

ป้ายรณรงค์ใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ปรากฎหน้าโรงพยาบาลทั่วประเทศ กรมอนามัย ออกประกาศ 6 ข้อ คุมสถานประกอบกิจการอาหาร ที่นำส่วนประกอบของกัญชามาปรุง-ทำอาหาร ต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ อธิบดีกรมแผนไทย เร่งร่างประกาศกระทรวงกำหนด “กัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม

 

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 เพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบทโพส พบ ป้ายเตือนให้ใช้กัญชาอย่างปลอดภัยปรากฎพรึ่บในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ

โดยทางชมรมฯ ระบุว่า หลังกฎหมายเปิดให้ปลูกกัญชาได้โดยเสรีส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงกัญชาได้สะดวกโดยไม่ผิดกฏหมายและมีแนวโน้มที่จะมีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากขึ้นมาก จนสร้างความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อสุขภาพประชาชน

สิ่งที่หลายๆ โรงพยาบาลทำได้ก็คือการรวมพลังขึ้นป้ายเตือนกับประชาชนหน้าโรงพยาบาล รพ.สต. สสอ. เพื่อขอให้ใช้กัญชาอย่างปลอดภัย

พวกเราแนวหน้าของกองกำลังดูแลรักษาโรคจะไปทักท้วงนโยบายก็ไม่ได้ จึงก็ทำได้เท่านี้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ขอให้ประชาชนตระหนักว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ใช่อาหารวิเศษ ขอให้ใช้กัญชาอย่างระมัดระวัง

    

กรมอนามัยจ่อออกกฎคุม 6 ข้อ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และมีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยผลจากการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจะส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร Tetrahydrocannabinol, THC เกินร้อยละ 0.2

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร ที่มีนำส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษไปใช้ในอาหารโดยขาดการใช้ที่รัดกุมเพียงพอ อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

กรมอนามัยจึงได้ ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ

ซึ่งสถานประกอบกิจการอาหาร ในประกาศฯ ดังกล่าว หมายรวมถึงตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะนำไปใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เพื่อจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหารนั้น

จากเดิมตามประกาศประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ที่มีการลงนามเมื่อ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งในข้อ 3 กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกหรือแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา และวัตถุประสงค์ในการนำใบกัญชามาใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อการจำหน่ายในสถานประกอบกิจการอาหาร

ขณะนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี้ โดยให้ยกเลิกความในข้อ 3 เปลี่ยนเป็นกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย แทน

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดอื่น ๆ ในประกาศยังคงเหมือนเดิม คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่

  • 1) จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
  • 2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
  • 3) แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
  • 4) แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
  • 5) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน

“หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

  • 6) ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

จ่อกำหนดเป็นสมุนไพรควบคุม จำกัดครอบครองช่อดอก

วันที่ 14 มิ.ย. 65 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งเป็นช่วงสุญญากาศ ขณะนี้กรมฯ ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆ ในส่วนของกัญชา จัดทำเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่ หัวใจหลักคือ จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน

ซึ่งจะมีรายละเอียดการควบคุมการครอบครองต่างกัน เพื่อป้องกันการเสพหรือใช้เพื่อสันทนาการ โดยจะเสนอ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาไทยเห็นชอบ หากเห็นชอบกับทางเลือกนี้ก็เสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจัดทำร่างดังกล่าวใช้เวลาแค่ 3-5 วันก็แล้วเสร็จ

นพ.ยงยศ กล่าวว่า แนวคิดการใช้ร่างประกาศดังกล่าว เพื่อมาควบคุมป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นจำกัดปริมาณการครอบครองกัญชา จากเดิมมีแค่ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ควบคุมเรื่องควันและกลิ่นกัญชาเป็นเหตุรำคาญเท่านั้น ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยฯ ใช้เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรที่กำลังจะสูญหายและมีราคาแพง เช่น กวาวเครือ เป็นต้น

ส่วนตอนแรกที่ไม่ได้ใช้กฎหมายกับกัญชา เนื่องจากเกรงว่าเป็นแค่การเปลี่ยนกรงขังกัญชา แต่เมื่อนายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับทีมที่ปรึกษา รมว.สธ.เสนอมาเช่นกัน ก็เห็นควรที่จะนำร่างประกาศดังกล่าว มาอุดช่องโหว่ในช่วงนี้

เมื่อถามถึงกรณี กทม.แถลงพบคนเสียชีวิตจากการเสพกัญชาเกินขนาด 1 คน และอีก 3 คนได้รับผลกระทบจนเข้ารับการรักษาใน รพ. จำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 16-17 ปี นพ.ยงยศ กล่าวว่า ถ้าใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่มีผลกระทบ จากการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชาของ สปสช. ในส่วนของน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา จำนวน 51,000 คน และตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชาศุขไสยาศน์ 2,100,000 ครั้ง ก็พบว่าไม่มีเสียชีวิต หรือไม่ได้รับผลกระทบจากกัญชา

ย้ำว่าหากประชาชนใช้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อทางการแพทย์ อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากผิดวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ ก็อาจได้รับผลกระทบได้ เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของ อย. และ ร้านอาหารที่น่าเชื่อถือ

ไม่ใช่ทุกคนกินแล้วดี

แพทย์ และ นักกฎหมาย ต่างออกมาเตือน ร้านอาหาร ที่คิดจะใส่กัญชาเป็นส่วนผสมลงในอาหารว่า ต้องปฏิบัติตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดสัดส่วนปริมาณการใช้ไว้ และหากใส่ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบ เพราะบางคนอาจจะแพ้ได้นั้น

ล่าสุด สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก ระบุถึงอาการแพ้กัญชา จากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า “ฝากถึงพ่อค้า แม่ค้าทุกท่านนะคะ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกินกัญชาได้ สรุปเราแพ้กัญชาค่าาา ด้วยความเสียดายกับข้าวที่ซื้อมา(ใส่กัญชา)

เราก็เลยกินเองคนเดียว กินช่วงค่ำๆ พอดึกๆ อาการออกหนัก ปวดหัว คอแห้ง คอบวม กลืนน้ำลายลำบาก กระหายน้ำมาก เพลีย ปวดท้อง รู้นะว่าเป็นอาการแพ้ แต่ไม่รู้แพ้อะไร เลยไม่ไปรพ. ก็กินยาแก้ปวด เกลือแร่ แล้วเพลีย ปวดท้อง ปวดหัว กระหายน้ำ 3 วัน บอกเลยทรมานมาก อยากให้เพื่อนๆ ลองถาม หรือสังเกตอาหาร ก่อนสั่ง ก่อนกินนะคะ”

เธอได้อัพเดตว่า สุดท้ายทนกับอาการดังกล่าวไม่ไหว จึงได้ไปหาหมอ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า เกิดจากฤทธิ์ของกัญชา โดยเธอยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยใช้ ไม่เคยลอง และไม่ทราบว่าตนเองจะแพ้กัญชา

แพ้กัญชา