“ธปท.” รับไทยเสี่ยงเงินเฟ้อสูง ฉุดเศรษฐกิจโต ส่งภูมิคุ้มกัน 5 ด้านเสริมแกร่ง

“ธปท.” รับไทยเสี่ยงเงินเฟ้อสูง ฉุดเศรษฐกิจโต ส่งภูมิคุ้มกัน 5 ด้านเสริมแกร่ง ชี้ขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริบท

 

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาในโอกาสที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าก้าวสู่ปีที่ 12 โดยกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย ว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะฟื้นตัว และยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้ง ยังมีความกังวลเรื่องภาคการท่องเที่ยวว่าจะดีขึ้นตามคาดหรือไม่ อีกทั้ง ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยสะดุด

อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องขึ้นกี่ครั้ง หรือต้องขึ้นแค่ไหน ต้องขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริบทของเศรษฐกิจในขณะนั้น แต่ถ้าทำช้าไปอาจไม่ดี และการทำเร็วไปก็อาจไม่เหมาะสม ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ไทยเผชิญจึงได้เสริมภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกัน 5 ด้าน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

โดยปัญหาสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเห็นสอดคล้องกันคือเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ จากตัวเลขสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีการปรับประมาณการณ์เงินเฟ้อทั่วไปจาก 4.9% ปรับขึ้น 6.2% และเห็นสัญญาณเงินเฟ้อขยายขึ้นมาก จากปัจจัยหมวดราคาพลังงานเพิ่มขึ้น หมวดราคาสินค้า และการส่งผ่านก็แรงขึ้น โดยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงด้านฟื้นตัวเศรษฐกิจน้อยลง เงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลมากกว่า

ขณะเดียวกันต้องทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ดังนั้น หากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อโอกาสการฟื้นตัวสะดุด และการดูแลเป็นที่มาของการพูดถึงบริบทปัจจุบันในความจำเป็นต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และต้องปรับโหมดเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า หลังจากทั่วโลกเผชิญโควิด-19 โดยจากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3% แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิดก็ทำให้เศรษฐกิจติดลบ 6% ต่อมาประสบกับผลกระทบที่เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในรูปของเงินเฟ้อ จากเดิมที่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ระดับ 1% แต่จากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาระดับเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% จากเดือนมีนาคมที่อยู่ในระดับ 4.9% แต่เมื่อเกิดความเสี่ยงแล้ว จึงต้องหาทิศทางการป้องกันเพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไป ซึ่งสิ่งที่ไทยต้องทำคือสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจของประเทศ แบ่งเป็น 5 ด้าน

1.เสถียรภาพต่างประเทศ เนื่องจากเสถียรภาพของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับดี ซึ่งดูจากปัจจัยรอบด้าน อาทิ หนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่ได้อยู่ระดับสูงมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 2-3 เท่า แม้เจ้าหนี้ระยะสั้นตกใจอยากจะเอาเงินออก ไทยก็มีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับหากเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งภาพรวมของเสถียรภาพต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับดีและยังไม่สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย

2.เสถียรภาพการคลัง จากการเผชิญวิกฤตโควิดคลังก็เกิดการปรับตัวมีการอัดเงินเข้าสู่ระบบ และทำให้เห็นว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 41% ไปอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี แต่การเพิ่มหนี้นั้นมีความจำเป็น ซึ่งจากปีแรกที่เราประสบปัญหาโควิดจีดีพีติดลบ 6% หากไม่ได้มีมาตรการการคลังเข้ามาช่วยสนับสนุนจะติดลบ 9%

อีกทั้ง เศรษฐกิจที่โตอย่างแผ่วเบาจากต้นปีที่ผ่านมาก็จะเห็นภาพว่าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในมาตรการต่างๆเข้ามาช่วยอาจจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 4% ซึ่งเป็นผลที่สะท้อนว่าการที่ใช้มาตรการการคลังเข้ามามันดี แต่หนี้ก็เพิ่มขึ้น แต่หนี้ที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้อยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงต่อเสถียรภาพ เนื่องจากดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 2.8% เมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาคเดียวกันจะอยู่ในระดับต่ำสุด โดยภาพรวมในแง่ถือว่าเสถียรภาพของไทยยังดีอยู่เช่นกัน

3.เสถียรภาพการเงิน จะดูความแข็งแรงของงบดุลในภาคต่างๆ อาทิ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ยังอยู่ในระบบคล่องตัวและดีอยู่ แต่บางส่วนที่ยังแย่คือภาคครัวเรือนที่อยู่ในภาวะหนี้สูง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเร่งขึ้นช่วงโควิด แต่ภาพยังต่างกับภาวะวิกฤติปี 40 เนื่องจากช่วงนั้นเสถียรภาพต่างประเทศและเสถียรภาพทางการเงินเปราะบาง แต่วิกฤตปัจจุบันเสถียรภาพดังกล่าวยังแข็งแรง

4.เสถียรภาพด้านราคา เกี่ยวเนื่องในเรื่องของเงินเฟ้อที่ไม่อยากให้ผันผวนมาก จากเดินที่เงินเฟ้อต่ำมาก แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาโควิด และซ้ำด้วยผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ไตรมาส 1/2565 เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.7% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2565 ที่ระดับ 6.5% คาดว่าช่วงพีคสุดจะอยู่ในไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ระดับ 7.5 เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าไตรมาส 4/2565 ตัวเลขจะลดลงที่ระดับ 4.1% จึงเป็นตัวที่ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น จึงทำให้ภาพโดยรวมทำให้เศรษฐกิจเกิดความเสี่ยงด้านการขยายตัวจากเงินเฟ้ออยู่ช่วงขาขึ้น

5. ด้านกลไกหรือกระบวนการดำเนินนโยบายที่ดี จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ต้องมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันเหมาะกับบริบทต่างๆ ปรับเปลี่ยนสร้างความสมดุล นโยบายต้องมาจากข้อมูลและประเมินผลเป็นอย่างไร นโยบายถูกต้อง แต่อาจไม่ได้ถูกใจ การทำนโยบายดูภาพรวมส่วนรวม ต้องมีความโปร่งใส ที่มานโยบายต้องชัดเจน ต้องอธิบายให้คนเข้าใจได้ว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ ไม่ได้ทำถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง และต้องอธิบายสร้างความเข้าใจแก่คนได้ เป็นภูมิคุ้มกันที่ดี่ที่สุด

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น จากเศรษฐกิจปี 2564 โต 1% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2565 และ 2566 ขยายตัว 3.3% และ 4% ตามลำดับ โดยความชัดเจนจากศักยภาพการขยายตัวปัจจุบันดีเกินคาด คือ การขยายตัวของจีดีพี ไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 2.2% ซึ่งต่อจากนี้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“โดยการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึง 6 ล้านคน และในส่วนผู้ว่างานและส่วนว่างงานลดลงกว่าคาดเหลือ 2.5 ล้านคน จาก 3 ล้านคน แม้จะยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากการฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงเศรษฐกิจในแง่ตัวเลขจีดีพีประมาณปลายปี 2565 ก็ต้นปี 2566 อาจจะช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อน แม้จีดีพีกลับมาในระดับเดิม แต่รู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เพราะการจ้างงานยังไม่กลับเข้าระบบเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวน้อยลง”นายเศรษฐพุฒิกล่าว