ศูนย์วิจัยแบงก์ วิเคราะห์ กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3/2565

ศูนย์วิจัยแบงก์ วิเคราะห์ กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3/2565

 

จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 16 ติดต่อกัน ท่ามกลางคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการ 3 ใน 7 ราย ลงคะแนนสนับสนุนให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75% โดยศูนย์วิจัยธนาคารต่างๆ ได้วิเคราะห์ถึงการส่งสัญญาณว่า กนง.อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3/2565 โดยต้องติดตามการประชุม กนง.มีกำหนดการรอบถัดไปในวันที่ 10 สิงหาคม 2565

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงแรกก่อนที่จะพลิกอ่อนค่ามาที่ 34.51 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทนั้นมีการอ่อนค่ากว่า 3.3% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและความคาดหวังของตลาดต่อการลดสภาพคล่องจากระบบของเฟด โดย กนง. มีความเห็นว่าค่าเงินบาทนั้นมีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และจะยังคงติดตามพัฒนาการและความผันผวนของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของ กนง. ครั้งนี้ บ่งชี้ถึงการปูทางไปสู่การปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ กนง. นั้นแสดงความกังวลต่อความกดดันด้านราคาในวงกว้างที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น การกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งผิดความคาดหมายของกรุงศรี เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ทางการเพิ่งจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังคงส่อแววเปราะบาง กรุงศรีมีความเห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคล่าสุด ความกดดันจากประเทศต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไหลของเงินทุนนั้นล้วนมีส่วนต่อการสื่อสารของ กนง.ในวันนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน และจุดยืนของ กนง.ด้านนโยบายที่เปลี่ยนไป เรากำลังจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้

นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ศูนย์วิจัยได้มองเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดขึ้น จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ซึ่งทำให้ กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 3/2565 หากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นตามที่คาดไว้ จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น และทำให้ กนง.อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมในไตรมาส 3/2565 อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง.จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเหมือนกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างร้อนแรง และอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มาระยะหนึ่ง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3/2565 จาหผลการประชุม กนง. แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด และอัตรา เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวและจะยังยืนอยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งได้ส่งสัญญาณว่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในระยะต่อไป จึงมองว่า กนง. จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps ในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อลดระดับนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลายมาก โดยมีปัจจัยดังนี้

1. เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีเช่นกัน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศ จึงทำให้โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม

2. อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าที่คาด ช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้การส่งผ่านต้นทุนอาจมากและเร็วกว่าคาด ซึ่งจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน

3. อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเร็วในช่วงที่ผ่านมา เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ของไทยปรับลดลง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงได้อีก ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยชะลอเงินไหลออกได้

4. เงินเฟ้อคาดการณ์เริ่มปรับสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า ของครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้น จาก 2.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2564 สู่ 3.1% ในเดือนพฤษภาคม 2565 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว ยังคงถูกยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% โดยคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 1.7% ผลสำรวจเดือนเมษายน 2565