สรุปไทม์ไลน์ตลอด 100 วันแห่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การรุกรานยูเครนของรัสเซีย นำมาสู่การถูกคว่ำบาตรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมถึงการขยายอิทธิพลของนาโต และการแยกส่วนของระบบการเงินและการค้าโลก

 

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า หลังจากหลายเดือนของความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รัสเซียได้เปิดฉากการรุกรานยูเครนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการประณามทั่วโลกและปฏิกิริยามากมายที่ต่อเนื่องกัน

ชาติตะวันตกตอบโต้รัสเซียอย่างรวดเร็วด้วยการคว่ำบาตรที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่นาโตได้ขยายการสมัครเป็นสมาชิกเปิดทางรับสวีเดนกับฟินแลนด์ แม้รัสเซียจะเตือนเรื่องการเคลื่อนไหวนี้ก็ตาม

นอกจากนี้การแยกส่วนของระบบการเงินและการค้าโลกยังคงดำเนินต่อไป

ต่อไปนี้คือไทม์ไลน์ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

21 กุมภาพันธ์: “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งกองทัพให้เข้าไปในภูมิภาคลูฮันสก์และโดเนตสก์ พร้อมรับรองให้เป็นรัฐอิสระ

22 กุมภาพันธ์: รัฐสภารัสเซียให้อำนาจปูตินใช้กำลังทหาร, สหรัฐฯคว่ำบาตรธนาคารวีอีบีและพีเอสบี,  เยอรมนีระงับกระบวนการการรับรองท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ทันที

REUTERS/Hannibal Hanschke//File Photo

23 กุมภาพันธ์: สภาพยุโรป (อียู) อายัดทรัพย์สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย 351 คน

24 กุมภาพันธ์: รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ, “โวโลดีมีร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครนสั่งระดมกำลัง, สหรัฐฯห้ามธนาคารรัสเซีย 5 แห่งเข้าร่วมระบบการเงินสหรัฐฯ พร้อมอายัดทรัพย์สินของธนาคาร 4 แห่ง

25 กุมภาพันธ์: รัสเซียคัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนโดยไม่มีเงื่อนไข

26 กุมภาพันธ์: อียูเผยว่าจะห้ามธนาคารรัสเซียเข้าร่วมระบบสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นการตัดขาดออกจากระบบการเงินทั่วโลก

REUTERS/Nacho Doce

27 กุมภาพันธ์: กองทัพรัสเซียมุ่งหน้าไปยังสามเมืองของยูเครน ได้แก่ กรุงเคียฟ คาร์คิฟ และเคอร์ซอน, “เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ประกาศว่าเครื่องบินพลเรือนของรัสเซียห้ามเข้าสู่น่านฟ้าของอียู, สื่อของทางการรัสเซียอย่างรัสเซียทูเดย์ สปุตนิก และบริษัทในเครือ ถูกห้ามไม่ให้ใช้คลื่นวิทยุและอินเทอร์เน็ตของอียูด้วย

28 กุมภาพันธ์: อียูอนุมัติเงินสนับสนุน 500 ล้านยูโรเพื่อช่วยกองทัพยูเครน โดย “โจเซป บอร์เรล” ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อียูจะจัดหาอุปกรณ์ที่อันตรายให้แก่ประเทศที่สาม” และตั้งแต่นั้นมาความช่วยเหลือจากอียูได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านยูโร ขณะที่ยูเครนได้สมัครเข้าร่วมอียู ซึ่งห้ามการทำธุรกรรมกับธนาคารกลางของรัสเซีย สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลง 30%

1 มีนาคม: ในการรุกครั้งใหม่ ขบวนรถรัสเซียความยาว 65 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟ

2 มีนาคม: รถถังรัสเซียเข้าสู่เมืองเคอร์ซอน ทำให้เมืองดังกล่าวกลายเป็นเมืองแรกทางตอนใต้ของยูเครนที่ล่มสลาย, กองทัพรัสเซียล้อมเมืองมาริอูปอล

8 มีนาคม: คณะกรรมาธิการยุโรปเผยแผน REPowerEU ซึ่งเป็นแผนลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียให้เหลือสองในสามภายในสิ้นปีนี้ แผนดังกล่าวนับว่ามีเป้าหมายที่มากเกินกว่าแผนของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่เปิดตัวเมื่อ 3 มีนาคม, สหรัฐฯออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซีย

9 มีนาคม: การโจมตีทางอากาศของรัสเซียมุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูปอลที่ถูกปิดล้อม

Military/Handout via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY.

10 มีนาคม: รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯอนุมัติการใช้จ่าย 13,600 ล้านดอลลาร์สำหรับยูเครน

11 มีนาคม: อียูออกปฏิญญาแวร์ซาย เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างการใช้จ่ายด้านกลาโหม การลงทุน การวิจัย และการประสานงาน, สหรัฐฯนำมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่มาใช้กับรัสเซีย โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศ G7

16 มีนาคม: มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนหลังกองทัพรัสเซียวางระเบิดที่โรงละครในเมืองมาริอูปอล การต่อสู้มาถึงใจกลางเมือง

23 มีนาคม: นาโตประมาณการณ์ว่ารัสเซียสูญเสียทหาร 7,000-15,000 นาย, ฝ่ายบริหารของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุอย่างเป็นทางการว่ารัสเซียเป็นผู้ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน, ปูตินประกาศว่าประเทศที่ “ไม่เป็นมิตร” และมีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ อียู อังกฤษและญี่ปุ่น จะต้องจ่ายค่าก๊าซให้รัสเซียเป็นเงินรูเบิลแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ

24 มีนาคม: ระหว่างการเดินทางเยือนยุโรป ไบเดนให้คำมั่นว่าจะจัดหาก๊าซธรรมชาติให้อียูมากกว่าปีที่แล้ว 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะขนส่งทางเรือไปยังยุโรป 37,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีนี้ และจะเพิ่มอีก 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2573

25 มีนาคม: รัสเซียเผยว่าจะเน้นรวมการควบคุมในพื้นที่ทางตะวันออกของภูมิภาคลูฮันสก์และโดเนตสก์ และเริ่มถอนทหารออกจากกรุงเคียฟ

26 มีนาคม: ระหว่างการตรวจเยี่ยมกองทัพสหรัฐฯในโปแลนด์ ดูเหมือนไบเดนจะแนะนำให้เปลี่ยนระบอบการปกครองในรัสเซีย โดยเขากล่าวถึงปูตินว่า “เพื่อเห็นแก่พระเจ้า ชายผู้นี้ไม่สามารถคงอยู่ในอำนาจได้”

29 มีนาคม: คณะเจรจาของรัสเซียและยูเครนหารือกันที่นครอิสตันบูล ยูเครนยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับความเป็นกลาง

1 เมษายน: รายงานของอัลจาซีราห์เปิดเผยว่ารัสเซียกำลังใช้กลุ่มตัวแทนในซีเรียเพื่อรับสมัครนักรบเข้าร่วมในยูเครน

2 เมษายน: เมื่อกองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากเมืองบูชา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ พบศพแต่งชุดพลเรือนหลายสิบศพบนถนน

(AP Photo/Vadim Ghirda)

7 เมษายน: เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่ารัสเซียได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้าไปในสถานีรถไฟที่เต็มไปด้วยผู้อพยพหลายพันคน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 52 ราย การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในเมืองครามาทอร์สค์ ทางตะวันออกของภูมิภาคโดเนตสก์

8 เมษายน: อียูห้ามนำเข้าถ่านหิน, ไม้แปรรูป ซีเมนต์ อาหารทะเล และปุ๋ยของรัสเซีย

10 เมษายน: กองทัพรัสเซียแบ่งเมืองมาริอูปอลออกเป็นสองส่วน

14 เมษายน: ยูเครนเผยว่าได้จมเรือธงของกองเรือทะเลดำรัสเซีย “มอสควา” ด้วยขีปนาวุธเนปจูน 2 ลูก

REUTERS/Alexey Pavlishak/File Photo

18 เมษายน: กองทัพรัสเซียเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในแถบตะวันออกของยูเครน เพื่อเข้าควบคุมภูมิภาคลูฮันสก์และโดเนตสก์อย่างเต็มรูปแบบ

20 เมษายน: กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าการเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ 3.6% ในปีนี้และปีหน้า โดยเป็นการปรับลดลง 0.8% สำหรับปีนี้ และ 0.2% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับคาดการณ์ในเดือนมกราคม อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน

21 เมษายน: ปูตินประกาศชัยชนะเหนือเมืองมาริอูปอล แม้ว่านักสู้ชาวยูเครน 2,500 คนในโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลยังไม่ประกาศยอมแพ้

26 เมษายน: “ลอยด์ ออสติน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กดดันผู้แทนจาก 40 ประเทศให้บริจาคอาวุธเพิ่มโดยเร็วที่สุดเพื่อการทำสงครามของยูเครน ในระหวา่งการประชุมที่เยอรมนี

27 เมษายน: รัสเซียหยุดส่งก๊าซไปยังบัลแกเรียและโปแลนด์ โดยกล่าวหาว่าทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธที่จะจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล

28 เมษายน: สภาคองเกรสของสหรัฐฯรื้อฟื้นกฎหมายยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นร่างกฎหมายให้ยืม-เช่า เพื่อเพิ่มความเร็วในการจัดส่งอาวุธไปยังยูเครน โดยไบเดนได้ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติแพ็คเกจการใช้จ่ายมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับยูเครน

2 พฤษภาคม: เยอรมนีประกาศว่ายินดีที่จะห้ามแบนน้ำมันรัสเซียทันที ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนจากเดิม

3 พฤษภาคม: ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภายุโรป “มาริโอ ดรากี” นายกรัฐมนตรีอิตาลี เรียกร้องให้เกิด “สหพันธรัฐในทางปฏิบัติ” ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่สามารถเอาชนะการใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) เพื่อให้เกิดการดำเนินการร่วมกัน การเรียกร้องดังกล่าวถือเป็นคำใบ้ที่ชัดเจนต่อฮังการีและสโลวาเกีย ที่ขัดขวางไม่ให้อียูห้ามการใช้น้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

4 พฤษภาคม: การตอบโต้ของยูเครนในพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกของเมืองคาร์คีฟ ได้ผลักกองทัพรัสเซียออกจากเมืองไป 40 กิโลเมตร นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญครั้งแรกของยูเครน หลังได้รับชัยชนะในกรุงเคียฟ

9 พฤษภาคม: “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส สนับสนุนการสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับอียู ซึ่งจะช่วยให้ยูเครนและประเทศอื่น ๆ เช่น มอลโดวาและจอร์เจีย ได้รับสิทธิจากการเป็นสมาชิกอย่างรวดเร็ว

11 พฤษภาคม: “อิรีนา เวเรชชุก” รองนายกรัฐมนตรียูเครน กล่าวว่า รัสเซียได้เนรเทศชาวยูเครนประมาณ 460,000 คน ไปยังค่าย 6,500 แห่งทั่วรัสเซีย, เป็นครั้งแรกที่ยูเครนจำกัดการส่งก๊าซรัสเซียที่ส่งผ่านอาณาเขตของตนไปยังยุโรป โดยลดการไหลของก๊าซลงหนึ่งในสี่ ที่ส่งผ่านท่อส่งก๊าซหลักหนึ่งในสองท่อ

12 พฤษภาคม: ฟินแลนด์ประกาศจะขอสมัครเป็นสมาชิกนาโต

15 พฤษภาคม: สวีเดนประกาศจะสมัครเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งถือเป็นการยุติความเป็นกลางที่ดำเนินมานานสองศตวรรษ

17 พฤษภาคม: กองทัพยูเครนประกาศยุติปฏิบัติการในโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลในเมืองมาริอูปอล กระทรวงกลาโหมรัสเซียยืนยันว่าชาวยูเครน 265 คนได้มอบตัวแล้ว

18 พฤษภาคม: คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผน 220,000 ล้านยูโร เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียภายในเวลา 5 ปี

19 พฤษภาคม: สหรัฐฯอนุมัติการใช้จ่าย 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับยูเครน ครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนทางทหาร

20 พฤษภาคม: “แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์” อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของรัสเซีย “รอสเนฟต์”

21 พฤษภาคม: รัสเซียเผยว่าสามารถควบคุมเมืองมาริอูปอลได้เบ็ดเสร็จ หลังจากทหารยูเครนเกือบ 2,500 นายยอมจำนน

23 พฤษภาคม: ยูเครนสั่งจำคุกตลาดชีวิต ทหารรัสเซียคนแรกที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในคดีสงคราม

25 พฤษภาคม: เซเลนสกีโวยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ “เฮนรี คิสซิงเจอร์” ที่เสนอให้ยูเครนยอมยกดินแดนให้รัสเซีย

26 พฤษภาคม: กองทัพรัสเซียยังคงล้อมเมืองเซเวโรโดเนตสก์ และมีรายงานว่าได้เข้าครอบครองพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองดังกล่าวแล้ว, “แอนนา มัลยาร์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครนกล่าวว่า การต่อสู้ได้มาถึงระดับความรุนแรงสูงสุดแล้ว ศัตรูกำลังบุกโจมตีตำแหน่งต่าง ๆ ในหลายทิศทางพร้อมกัน

27 พฤษภาคม: กองทัพรัสเซียบุกโจมตีเมืองเซเวโรโดเนตสก์จากสามทิศทาง พร้อมกับยึดโรงแรมเมียร์

28 พฤษภาคม: ยูเครนเปิดฉากตอบโต้ในเมืองเคอร์ซอน มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียกำลังจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเกิดความสูญเสียอย่างหนัก

ในการโทรศัพท์หารือกับผู้นำฝรั่งเศสและผู้นำเยอรมนี ปูตินเสนออำนวยความสะดวกในการส่งออกธัญพืชของยูเครน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย

30 พฤษภาคม: หลังจากลังเลอยู่บ้าง ไบเดนตัดสินใจส่งระบบจรวดที่ล้ำหน้าไปยังยูเครน เพื่อให้การโจมตีด้วยปืนใหญ่มีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะส่งระบบจรวดหลายลำกล้องพิสัยไกล (MLRS) และระบบจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยิงให้ยูเครน

31 พฤษภาคม: กองทัพรัสเซียเข้ายึดใจกลางเมืองเซเวอร์โดเนตสก์ ขณะที่กองทัพยูเครนทำการถอยทัพทางยุทธวิธี การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดในเมืองตอชคิฟคา รวมถึงทางใต้ของเมืองเซเวอร์โดเนตสก์ ขณะที่กองทัพรัสเซียพยายามล้อมเมืองเซเวอร์โดเนตสก์จากทางใต้

ในพื้นที่ทางใต้ กองทัพยูเครนเริ่มการตอบโต้ที่เมืองเคอร์ซอน ทำให้กองทัพรัสเซียต้องถอยไปทางตะวันออกของแม่น้ำอินฮูเล็ต

อียูแบนน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของรัสเซีย หลังจากตัดสินใจคว่ำบาตรรัสเซียรอบที่ 6 อย่างไรก็ตาม มีการยกเว้นสำหรับประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งไม่สามารถจัดหาน้ำมันได้โดยง่าย

1 มิถุนายน: กองทัพรัสเซียยึดใจกลางเมืองเซเวอร์โดเนตสก์ หรือประมาณพื้นที่ 70% ของเมือง

เยอรมนีระบุว่าจะส่งไอริส-ที หรือขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ ให้กับยูเครน ระบบดังกล่าวจะมาพร้อมกับเรดาร์ที่ช่วยเล็งเป้าปืนใหญ่ของศัตรูได้