“อรุณี” ชำแหละ 3 ข้อ ร่างงบฯปี 66 ซัดตีเช็คเปล่า-รัฐราชการอุ้ยอ้าย ลั่น “ประยุทธ์” ต้องลาออก

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการอภิปรายร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระแรก พร้อมตั้งข้อสังเกตและความกังวลของงบประมาณในปีสุดท้ายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำรัฐประหาร 2557 ว่า

“ชำแหละงบ 2566 งบสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์”

แม้ว่าจะเข้าสู่วันสุดท้ายของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระที่ 1 ในสภาผู้แทนราษฎรกันแล้วนะคะ แต่หญิงยังมีเรื่องอีกมากมายที่อยากจะเล่าให้พ่อแม่พี่น้องท่านฟังเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2566 และอยากชวนทุกคนมาตั้งข้อสังเกตถึงการจัดสรรงบประมาณในปีหน้า ที่หญิงมองว่าเป็นการจัดงบที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ตอบโจทย์กับปัญหาที่ประเทศของเรากำลังเผชิญอยู่ค่ะ
.
การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สะท้อนให้เห็นค่ะว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะทำเพื่อประชาชน หรือใส่ใจเพื่อพัฒนาประเทศ แต่เป็น “การจัดสรรงบเพื่อหวังคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งเท่านั้น” ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2566 พูดได้ว่านี่คือจัดทำงบประมาณครั้งสุดท้ายที่จะทิ้งทวนก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า
.
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ตั้งวงเงินงบประมาณไว้กว่า 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ราว 85,000 ล้านบาท (2.74%) มีหลายหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เช่น รัฐวิสาหกิจได้งบเพิ่มขึ้น 35,124 ล้านบาท (27.5%) หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบเพิ่มขึ้น 16,214 ล้านบาท (14.8%) ในขณะที่หลายหน่วยงานก็ถูกตัดงบประมาณลง เช่น กระทรวงวัฒนธรรมถูกตัดงบลง 245 ล้านบาท (3.5%) หรือกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกตัดงบลง 4,526.4 ล้านบาท
.
เป็นธรรมดานะคะที่งบประมาณของแต่ละหน่วยงานจะถูกปรับลดหรือเพิ่ม แต่เราสามารถเห็นเจตนาและความตั้งใจของรัฐบาลได้ว่า สนใจที่จะพัฒนาประเทศและทำให้ประชาชนคนไทยกินดีอยู่ดีหรือไหม หรือเพียงแค่ตั้งใจจะสืบทอดอำนาจ เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง
.
หญิงมีข้อสังเกตที่อยากชวนพี่น้องประชาชนได้รับทราบหลัก ๆ 3 ข้อค่ะ
.
1. กระทรวง อว. แหล่งรวมสังคมอุดมปัญญากำลังกลายเป็นต้นตอของปัญหา
.
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในส่วนของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งไว้ที่ 124,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2565 ราว 1,302 ล้านบาท อย่างที่หญิงเคยบอกไปครั้งหนึ่งแล้วนะคะว่า งบประมาณส่วนบุคลากรของ อว. นั้นได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2566 ที่เกินครึ่งเป็นงบประมาณสำหรับบุคลากรซึ่งสูงถึง 70,000 ล้านบาท คิดเป็น 62% ของงบประมาณที่ อว. ได้รับการจัดสรร ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน เราจะพบว่ามีหลาย ๆ มหาวิทยาลัยกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนนิสิตนักศึกษา หลายสาขาวิชาจำเป็นต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนเรียน แต่งบบุคลากรกลับสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนผู้เรียนที่ลดลง
.
นอกจากนี้นะคะ ปัจจุบันเราพบว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังประสบกับปัญหามหาวิทยาลัยล้นตลาดที่ผลิตนิสิตนักศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้มีเด็กจำนวนมากที่ว่างงาน ประกอบกับปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้มีแนวโน้มว่างงานระยะยาวมากที่สุด แต่กลับพบว่างบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการ ‘เพิ่มทักษะ’ (Upskill) และ ‘เปลี่ยนทักษะ’ (Reskill) เพื่อเตรียมความพร้อมในนิสิตนักศึกษาจบใหม่ที่ยังว่างงานได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นนั้นมีสัดส่วนที่น้อยมาก
.
2. งบกลางเพิ่มขึ้นกว่า 3 พันล้าน
.
ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับงบกลางไว้ที่ประมาณ 587,409 บาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับงบกลางไว้ 590,470 ล้านบาท แปลว่ารัฐบาลจัดสรรงบกลางเพิ่มขึ้นกว่า 3,060 ล้านบาท และงบกลางคิดเป็นสัดส่วนถึง 18.5% ของงบประมาณทั้งหมด
.
ข้อสังเกตของหญิง คือ นี่เป็นการ ‘ตีเช็คเปล่า’ ให้รัฐบาลประยุทธ์หรือไม่? เพราะตามหลักกฎหมายการคลังแล้ว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร จัดสรรให้กับหน่วยงานไหน แต่สำหรับงบกลางนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ว่านี้ค่ะ งบกลางเพียงแค่ระบุวัตถุประสงค์ในการใช้ไว้อย่างกว้าง ๆ แต่ไม่ต้องระบุหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไว้ก็ได้ หมายความว่าฝ่ายบริหารที่อำนาจอย่างเต็มที่ในการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของงบกลาง โดยไม่ผ่านกลไกการตรวจสอบจากรัฐสภาเหมือนงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ
.
นอกจากนี้เมื่อไปดูในรายละเอียด จะพบว่ารายการในงบกลางที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่แล้วหมดไปกับค่าใช้จ่ายของบุคลากร เช่น เงินบำเหน็จบำนาน เบี้ยหวัดต่าง ๆ ของข้าราชการ เพิ่มขึ้นถึง 12,190 ล้านบาท เงินสำรอง สมทบ และชดเชยของข้าราชการ เพิ่มขึ้น 3,400 ล้านบาท เงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท
.
ในขณะที่งบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อประชาชนโดยตรงกับถูกตัดลดลง เช่น งบประมาณในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ลดลงมากกว่า 13,362 ล้านบาท พูดง่าย ๆ ว่า “งบสำหรับข้าราชการถูกปรับเพิ่ม แต่งบสำหรับประชาชนกลับถูกปรับลด” ข้อสังเกตของหญิงตรงนี้ นำไปสู่ข้อสังเกตในส่วนถัดไป นั่นคือ
.
3. รัฐบาลกำลังทำให้ไทยกลายเป็นรัฐราชการที่อุ้ยอ้ายอืดอาด
.
ทราบกันไหมคะว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เกือบครึ่งหมดไปกับบุคลากรของภาครัฐ โดยเมื่อรวมรายจ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบุคลากร จะพบกว่ามีรายจ่ายสูงถึง 1,285,474 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.4% ของงบประมาณรวมทั้งหมด
.
งบประมาณเกือบครึ่งที่เป็นรายจ่ายสำหรับข้าราชการ กำลังทำให้ไทยกลายเป็นรัฐราชการที่เทอะทะ อุ้ยอ้าย และไม่มีความคล่องตัว จากข้อมูลในปี 2564 พบว่าประเทศไทยมีข้าราชการมากกว่า 2.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.04 ต่อปี ยังไม่นับรวมลูกจ้างและพนักงานของรัฐอีกจำนวนมาก ทั้งนี้จากรายจ่ายสำหรับบุคลากรทั้งหมด กลับมีเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรเพียง 23,884 ล้านบาทเท่านั้น
.
ทำให้หญิงอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ค่ะว่า นอกจากที่ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐราชการที่มีขนาดใหญ่โตเกินความจำเป็น และดูไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบการทำงานของราชการไทยที่เราทุกคนทราบกันดี กับขนาดงบประมาณและข้าราชการจำนวนมหาศาล ประเทศไทยยังเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ที่ไม่ได้สนใจจะพัฒนาท้องถิ่นและการกระจายอำนาจให้ประชาชนเลยแม้แต่น้อย
.
หญิงว่าปัญหางบประมาณด้านบุคลากรรัฐล้นประเทศที่กำลังถลุงภาษีของประชาชน เป็นโจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข เพราะไม่ใช่แค่จำนวนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ยังเต็มไปด้วยคนสูงวัยที่ทำให้ไทยกลายเป็นรัฐราชการที่อุ้ยอ้ายและอืดอาด
.
นอกจากนี้ แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้จะมีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลงไปก็ตาม กล่าวคือถูกตัดงบจากปีงบประมาณ 2565 ลง 4,373.7 ล้านบาท แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจกันไปนะคะ เพราะงบประมาณด้านบุคลากรกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น สวนทางกับความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชนที่นับวันจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้
.
ยังมีข้อสังเกตอีกมากมายเลยนะคะ ที่ทำให้ประชาชนคนหนึ่งอย่างหญิงรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในเจตนาของรัฐบาล โจทย์ใหญ่ในวันนี้ของประเทศ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรจะตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนสามารถลืมตาอ้าปาก และอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ท่ามกลางปัญหาวิกฤตสินค้าเกษตรและวิกฤตขาดแคลนอาหารที่ประชาชนจะต้องเผชิญ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำกลับสวนทาง
งบประมาณฉบับนี้ปรับลดงบลงทุนที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์เต็ม ๆ ตัดงบส่งเสริมการลงทุน ตัดงบส่งเสริม SMEs ตัดงบที่จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี มีเงินถุงเงินถัง มีความมั่นคงในชีวิต แต่กลับเพิ่มงบความมั่นคงทางไซเบอร์มากถึง 120% ซึ่งชัดเจนว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร นอกจากรัฐบาลที่เอาไว้ใช้จัดการกับประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐ
.
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น หญิงและพรรคเพื่อไทยไม่อาจเห็นชอบร่างงบประมาณ 2566 นี้ได้ และไม่อาจไว้วางใจรัฐบาลที่บริหารเศรษฐกิจจนพังพินาศ สร้างหนี้สินมากกว่ารัฐบาลใดในประวัติศาสตร์
.
“เราจะเชื่อได้อย่างไรคะว่า รัฐบาลที่บริหารประเทศผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการ และโกหกไปวัน ๆ เพื่อหวังคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง จะสามารถบริหารและใช้เงินภาษีของพี่น้องประชาชนได้อย่างสุจริตและเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้ หมดเวลาของพวกท่านแล้วค่ะ ทางเดียวที่คนไทยจะหลุดจากวังวนของความยากจนได้ คือ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกเท่านั้น”
.