รัฐบาลยัน ไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย ขอให้ปชช.มั่นใจ

โฆษกรัฐบาล ยืนยัน ไม่พบผู้ป่วย โรคฝีดาษลิง ในไทย เปิดผลตรวจผู้ป่วย 5 รายก่อนหน้านี้ ระบุ ขอให้ประชาชนมั่นใจทุกหน่วยงานคุมเข้ม

 

วันที่ 31 พ.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอความมั่นใจให้ชาวไทยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย ในส่วนของผู้ป่วย 1 ราย ที่มาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง บินมาจากประเทศยุโรป เพื่อไปออสเตรเลีย เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้ว จึงพบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน ระหว่างต่อเครื่องผู้ป่วยรายนี้ยังไม่มีอาการป่วย จึงถือว่าผู้สัมผัสใกล้ชิด ไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เพราะตอนใกล้ชิดยังไม่ได้ป่วย จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยสงสัย

นายธนกร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือผู้โดยสารเครื่องบิน ลูกเรือ รวม 12 คน ยังไม่พบว่ามีอาการ และจะติดตามให้ครบ 21 วัน ส่วนผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิงที่พบในประเทศไทย จำนวน 5 ราย โดย 3 รายแรกชาวไอร์แลนด์ ที่บินตรงไปที่ จ.ภูเก็ต และอีก 2 รายพบที่ยิมเดียวกัน จ.ภูเก็ต จากผลตรวจ ยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ฝีดาษลิง แต่เป็นผู้ป่วยโรคเริม อ่านข่าว : สธ.พบผู้ป่วยฝีดาษลิง มาต่อเครื่องที่ไทยก่อนไปออสเตรเลีย ติดตามสัมผัสใกล้ชิด 12 คน

นายธนกร กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบาย เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเคร่งครัด รัดกุม เพื่อปกป้องประชาชนไทยให้ปลอดภัย และขอให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนด นิยามผู้ป่วยสงสัย ดังนี้

  • 1.มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต ที่คอ ศอก ขาหนีบ
  • 2.มีผื่นตามลำตัว ใบหน้า แขนขา ลักษณะเริ่มจากผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะ
    เก็ด

นายธนกร กล่าวว่า ดังนั้น แม้จะไม่มีไข้ แต่มีผื่นเหล่านี้ก็นับเข้านิยาม โดยทั้งหมดนี้จะร่วมกับประวัติเชื่อมโยงระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน หรือก่อนมีอาการ คือ มาจากหรืออาศัยในประเทศที่รายงานการระบาดฝีดาษลิง เช่น แอฟริกา แคนาดา สเปน โปรตุเกส และ อังกฤษ ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษ หรือมีอาชีพสัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ และสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า

นายธนกร กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรคฝีดาษลิงในไทย ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเหมือนโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย อีสุกอีใส อหิวาตกโรค จึงไม่มีการเริ่มกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยก่อน ด้านกรมควบคุมโรค เตรียมทีมสอบสวนโรคทุกจังหวัด หากพบผู้ป่วยเข้ามาต้องสอบสวนให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงแรก รวมถึงติดตามเตรียมเวชภัณฑ์ ยา และวัคซีน