สภาฯ หนุน “บำนาญแห่งชาติ” ส่งต่อรัฐบาล หวังเป็นสวัสดิการ-ลดเหลื่อมล้ำสังคม

สภาฯ หนุน “บำนาญแห่งชาติ” เตรียมส่งต่อรัฐบาล หวัง เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า – ลดเหลื่อมล้ำ ด้าน ‘นิยม’ ชี้ ต้องเดินหน้าเป็นหน้าที่รัฐต้องหาเงิน ระบุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุวันละ 20 บาท อเนจอนาถเกินไป

 

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 09.30 น.  ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณารายงานการศึกษา เรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว

โดย นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคเศรษฐกิจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ชี้แจงว่า ปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 เสาหลัก คือ 1.การคุ้มครองจากภาครัฐ 2.การออมภาคบังคับ และ 3.การออมภาคสมัครใจ ซึ่งขาดความครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานนอกระบบ ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดรายได้ที่เป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตยามชราภาพ

ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน เพราะต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแหล่งรายรับเพียงแหล่งเดียวหลังเกษียณ ดังนั้น จากรายงานการศึกษาเรื่องนี้ จึงเสนอให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิบำนาญพื้นฐาน ให้มีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านงบประมาณที่เป็นภาระของรัฐ และระบบบำนาญพื้นฐานฯ ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ห่างจากเส้นแบ่งความยากจน

จากนั้น สมาชิกทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันอภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่สนับสนุนรายงานการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเงินบำนาญ 3,000 บาท จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้สูงอายุ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ควรหาวิธีบริหารรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบราชการ เพราะมีข้อจำกัดมากทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งหวังว่ากฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ จะเป็นการปักธงสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

โดย นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า กฎหมายบำนาญแห่งชาติ จะเป็นการสร้างสถานภาพผู้สูงอายุให้ดีขึ้น จากที่ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท คิดเป็นวันละ 20 บาท ตนอเนจอนาถใจที่ผู้สูงอายุที่เคยสร้างคุณูปการให้กับประเทศ ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุแค่วันละ 20 บาท ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม

“ผู้สูงอายุวันนี้มี 12 ล้านคน หลายคนเกิดคำถามว่าต้องใช้งบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท จะเอาเงินจากที่ไหน ผมไม่อยากให้คิดแบบนั้น อยากขอให้กมธ.เดินหน้าเรื่องนี้ อย่าไปคิดแทนว่าจะไม่มีเงิน เพราะรัฐบาลนี้ไม่มีอยู่แล้ว หาเงินไม่เป็น กู้เงินก็ทะลุเพดานแล้ว แต่เราต้องคิดถึงรัฐบาลหน้า คนที่มาเป็นนายกฯ คนต่อไป ต้องมีศักยภาพหาเงินมาให้คน 12 ล้านคนให้ได้” นายนิยม กล่าว

นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย

ขณะที่ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า ตนชื่นชมที่กมธ. ทำรายงานอย่างมีทิศทางน่าประทับใจ เพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ที่จะเปลี่ยนจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้บำนาญแห่งชาติ แต่ตนคิดว่า ควรจะนิยามคำว่าผู้สูงอายุให้ชัดเจน เพื่อความครอบคลุม และเสมอภาค โดยไม่ต้องสนใจที่มาของผู้สูงอายุ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมีปัญญา และวุฒิภาวะ หาเงินมาเติมให้ได้มากกว่านี้ รัฐสภามีเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น นอกจากนี้ ควรเพิ่มสิทธิให้ผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มมีศักยภาพแตกต่างกัน เพื่อสร้างทิศทางการดูแลที่เหมาะสม

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การที่ประเทศไทยไม่มีรัฐสวัสดิการ ทำให้คนวัยกลางคนไม่กล้าเสี่ยง เพราะต้องดูแลพ่อแม่ และลูกหลาน ทำให้ไม่สามารถทำตามศักยภาพของประเทศได้ บำนาญจึงเป็นเรื่องจำเป็น เราต้องคิดว่าเป็นไปได้ และมีพลวัติ อย่าคิดว่าเป็นรายจ่าย แต่ให้คิดว่าเป็นการลงทุน ถ้ารอเวลาจะต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเริ่มทำตั้งแต่วันนี้จะใช้งบ 4 แสนล้านบาท วันนี้รายงานฉบับนี้จึงถือว่าเป็นสารตั้งต้นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ใช้เวลาพิจารณารายงานการศึกษาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เกือบ 5 ชม. ได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว เพื่อให้สภาส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการตามรายงาน และข้อสังเกตต่อไป

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ก่อนหน้านี้ ก่อนท่ี่สภาจะออกมาอภิปรายสนับสนุนร่างพรบ.ดังกล่าว บริเวณลานหน้ารัฐสภา มีการจัดงาน ‘หิ้วปิ่นโตนั่งเฝ้ากฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา’ เพื่อติดตามการลงมติรับหรือไม่รับ รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคมพิจารณา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุจากร่างเดิมที่ให้เบี้ย 600-1,000 บาทต่อเดือน เป็นขั้นบันได เป็นให้รัฐดูแลเพิ่มเบี้ยให้เพียงพอที่จะหลุดพ้นความยากจนตามเส้นแบ่งที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตรา 3,000 บาท

โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค ที่มีบทบาทผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน ไปพบปะประชาชนที่มาเฝ้ารอผลการลงมติ

นายพิธากล่าวว่า ตนขอโทษประชาชนในฐานะผู้แทนราษฎร ที่สภาปล่อยให้ต้องนั่งรอกลางแดด ตนสงสัยว่าทำไมจึงไม่สามารถจัดการต้อนรับประชาชนให้ดีกว่านี้ได้ หรือเอาเวลาไปสร้างสโมสรให้ผู้แทนที่มีทั้งนวด สปา และลู่วิ่ง จึงปล่อยให้ประชาชนมานั่งรอ จึงต้องถามว่าเป็นสภาแบบไหน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนได้ประสานเข้าไปทางสภาแล้วว่าควรหาที่รอให้สมศักดิ์ศรีประชาชนกว่านี้

“หากเปรียบเทียบเงินเบี้ยหวัดบำนาญสำหรับข้าราชการกับเบี้ยผู้สูงอายุให้ประชาชน 12 ล้านคน จะพบว่าห่างกันถึง 51 เท่า มันอยู่ในสันดานของผู้บริหารประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับประชาชนหรือวิธีคิดงบประมาณ นี่เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะต้องผลักดัน เราไม่ได้ต้องการยกเลิกบำนาญราชการอย่างที่ไอโอพยายามบอก แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือการทำให้ประชาชนเท่ากัน ประเทศจึงจะเท่าเทียมกันได้” นายพิธากล่าว

ด้าน น.ส.วรรณวิภากล่าวว่า บางคนอาจบอกว่า การพิจารณาของสภาในวันนี้เป็นแค่รายงานของ กมธ.เพื่อส่งต่อคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ข้อเสนอในนั้นคือการแก้กฎหมายเพื่อให้บำนาญพื้นฐานประชาชนต้องไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และงบประมาณ ปี 2566 ไม่ได้ให้เงินผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเลย เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ในโค้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ที่ยังคงไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เป็นพรรคร่วมด้วยที่เคยบอกว่าจะให้ผู้สูงอายุ 1,000 บาทถ้วนหน้า จึงต้องทวงถามกันต่อ แม้คนในพรรครัฐบาลจะบอกว่าเป็นแค่การโฆษณาและลบโพสต์ไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ก็เพิ่งรู้ว่าการหาเสียงสามารถโฆษณาชวนเชื่อได้ ถ้าอย่างนั้นจากนี้หาเสียงลมๆ แล้งๆ ไปก็ได้ใช่หรือไม่ ตนหวังว่า ส.ส.ในสภาจะเห็นด้วยกับประชาชนในการนำรายงานฉบับนี้เสนอต่อและกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ให้เซ็นรับรองกฎหมายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าฉบับสุดท้ายที่อยู่ในมือเข้าสู่สภาต่อไป