ไขสงสัย ‘ฝีดาษลิง-โควิดโอมิครอน’ แตกต่างกันอย่างไร

ไขข้อสงสัย! ฝีดาษลิง-โอมิครอน แตกต่างกันอย่างไร หลังมีอาการคล้ายกันบางจุด หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบพบแพทย์

 

หลังการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ระบาดหนักพุ่ง 17 ประเทศ ซึ่งในทวีปแอฟฟริกา 2 ประเทศและนอกทวีปอีก 15 ประเทศ ทางกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ

หลายคนสงสัยว่าอาการของโรคฝีดาษลิงมีความเหมือนหรือแตกต่างจากโควิดโอมิครอนอย่างไร ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะมาไขข้อข้องใจประเด็นดังกล่าวด้วยการเปรียบเทียบระหว่างอาการฝีดาษลิงและโอมิครอน

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อย่างไรก็ตาม อาการป่วยมักจะหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคฝีดาษลิง ดังนี้

  • ไข้ ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • หนาวสั่น
  • ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • มีผื่นกระจายตามลำตัว ลักษณะตุ่มนูน น้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
ภาพจาก The UK Health Security Agency (UKHSA)

โควิด เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยทางเดินหายใจ ซึ่งถูกขับขึ้นไปในอากาศเมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไอ หรือผ่านการสัมผัสกับสั่งสารคัดหลั่ง ซึ่งมีระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2 -14 วัน อย่างไรก็ตาม โควิดยังไม่มียากป้องกันและยังไม่มีสูตรยามาตรฐาน

โควิดจะมีลักษณะอาการดังนี้

  • มีไข้
  • มีอาการไอ
  • เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ
  • สูญเสียการรับรู้รสชาติ
  • อย่างไรก็ตาม อาการโอมิครอนมีการค้นพบว่ามีอาการเหงื่อออกเยอะตอนกลางคืน อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาการท้องเสีย

การแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิงจากสัตว์สู่คน

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง เช่น เลือด ผิวหนัง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
  • รับประทานสัตว์ที่ป่วยและเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อของสัตว์ที่ป่วย

การแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิงแพร่จากคนสู่คน

  • ละอองฝอยทางการหายใจ
  • สัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสของใช้ เช่น ใช้เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน และของปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟักตัว
  • การเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่

การแพร่เชื้อของโอมิครอน

  • แพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หรือพูด
  • สัมผัสพื้นผิวที่มีละอองฝอยตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ราวบันได พื้นโต๊ะ สายชำระ และอื่น ๆ จากนั้นนำมือมาจับตา จมูก หรือปาก
  • ผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19

จากสรุปอาการทั้งหมด อาการของทั้งฝีดาษลิงและโควิด-19 ที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ หากใครกำลังกังวลว่า ควรป้องกันโรคฝีดาษลิงอย่างไรดี ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน
2.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสัตว์ป่า
4.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
5.เน้นย้ำถึงความสำคัญของสุขอนามัยโดย ใช้สบู่หรือเจลทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ล้างมือ
6.ไม่สัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ และเครื่องนอนของผู้อื่น