ขบวนต่อต้านร่างกม.ทำลายการรวมกลุ่มปชช. ยื่นฟ้องนายกฯ-พวก เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขบวนต่อต้านร่างกม.ทำลายการรวมกลุ่มปชช.ยื่นฟ้องนายกฯ กับพวก เพิกถอน พรก.ฉุกเฉินฯขอ ศาลคำสั่งคุ้มครองม็อบยูเอ็น ห้ามจนท.รัฐปิดกั้นการชุมนุม เรียกค่าเสียหาย 1.8 ล้าน เตรียมเคลื่อนทำเนียบฯ 30 พ.ค.

 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่ศาลแพ่งรัชดา ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มประชาชนนำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายธนพร วิจันทร์ และ น.ส.ภรณ์ทิพย์ สยมชัย พร้อมด้วยนายสุรชัย ตรงงาม นายสัญญา เอียดจงดี และ นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความได้เดินทางเข้ายื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ,พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงการคลัง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลแพ่งและขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามเจ้าหน้าที่รัฐกีดขวางปิดกั้นการชุมนุมที่ทางกลุ่มได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้ายูเอ็นและจะเตรียมเคลื่อนขบวนใหญ่อีกครั้งไปทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 30 พ.ค. 65 นี้

นายธนพรกล่าวว่า การยื่นฟ้องในวันนี้เพื่อขอให้มีการเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการออกมารวมกลุ่มหรือแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเราคิดว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานของรัฐพยายามใช้สิ่งกีดขวางช่วงเวลาที่เรามาทำการชุมนุมเพื่อปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ พวกเราจึงคิดว่าวันนี้จะมาขอฟ้องเพิกถอนและขอให้เพื่อให้เจ้าหน้ารัฐและตำรวจยกเลิกการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

นายสุทธิเกียรติ ทนายความกล่าวว่า วันนี้นอกจากการยื่นฟ้องเพื่อขอให้มีการเพิกถอนข้อกำหนดของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 ที่มีข้อความว่าห้ามชุมนุม รวมถึงประกาศที่ออกโดย ผบ.สส. ที่มีการกำหนดเขตพื้นที่ห้ามชุมนุม นอกจากนั้นแล้วเรายังมีการขอเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิด เป็นจำนวนเงิน 1,800,000  บาท

ในวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการทำกิจกรรมของประชาชนได้มีการปิดกั้น กีดขวางเส้นทาง ใช้รั้วลวดหนาม และอุปกรณ์ที่ไม่ได้กำหนดตามกฎหมายเช่นตู้คอนเทนเนอร์ และเราจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเนื่องจากประชาชนที่มีการชุมนุมอยู่ในปัจุจุบันนี้ที่หน้าตึกยูเอ็นจะเคลื่อนขบวนใหญ่ไปที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 30 พ.ค. 65 นี้ ก็จะทำให้เกิดการละเมิดอีกฉะนั้นมันจะเป็นการละเมิดที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  โดยที่พนักงานตำรวจก็จะอาศัยข้อกำหนดที่ห้ามชุมนุมดังกล่าวมาใช้ในการปิดกั้นและห้ามชุมนุมของประชาชนเพราะฉะนั้นเราจึงได้มาทำการยื่นฟ้องและขอคุ้มครองชั่วคราว

โดยศาล มีคำสั่งนัดไต่สวนฉุกเฉินกรณีประชาชนยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวบ่ายนี้โดยมีพยานสองปากได้แก่นายนิมิตร์ เทียนอุดมโจทก์ที่หนึ่งและพยานผู้เชี่ยวชาญรอง ศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิจัยคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำฟ้องระบุว่า วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ได้แก่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นางสาวธนพร วิจันทร์ และ นางสาวภรณ์ทิพย์ สยมชัย โดยทั้งสามคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรวมตัวรวมกลุ่ม เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการชุมนุมร่วมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ในการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยทันที และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งหมายในการควบคุมประชาชนที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีข้อห้ามการดำเนินงานอย่างกว้างขวางคลุมเครือไร้ขอบเขตเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระและปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการรวมกลุ่มแสดงออกและการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ

โดยยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 1, พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่ 2, สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 3, กองบัญชาการกองทัพไทยที่ 4, กระทรวงการคลัง ที่ 5, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 และมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษา

1. เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 และ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14  ที่ประกาศเรื่องห้ามชุมนุม

2. ให้ จำเลยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางการชุมนุมของโจทก์ทุกรูปแบบ และให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน
3. เรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม การเดินทางการแสดงความคิดเห็น อันเป็นผลจากการออกข้อกำหนด ประกาศห้ามชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ จำนวน 1,800,000 บาท

เนื่องจากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 ออกประกาศเรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีการระบุ ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการประกาศที่มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไป มิได้มุ่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐสามารถควบคุมได้ และมีมาตรการผ่อนคลายในการรวมตัวรวมกลุ่มของประชาชน และเตรียมการให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังห้ามการชุมนุมซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำหนดห้ามการชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการการแสดงออก ของประชาชนยิ่งกว่าการป้องกันโรคตามกฎหมาย

และเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบ ขัดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ และยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หลายประการ และข้อกำหนดฉบับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการละเมิด จำกัด และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่มีการตรวจสอบดุลพินิจในการใช้อำนาจดังกล่าวทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ซึ่งตามหลักการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการดำเนินการตามหลักนิติรัฐ ธรรมาภิบาล และต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี รัฐจำเป็นต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาที่โจทก์ทั้งสาม รวมถึงประชาชนที่ประสงค์จะใช้เสรีภาพการชุมนุม อันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ พฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลับมีการนำสิ่งของมาปิดกั้นเส้นทางสาธารณะด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ รถยนต์ รถเมล์ ขสมก. ตู้บรรทุกรถไฟ หรือตู้บรรทุกน้ำมัน ลวดหนามหีบเพลง และอุปกรณ์อื่นๆ อันเป็นการใช้สิ่งของที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์และไม่เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานอันส่งผลกระทบต่อโจทก์และประชาชนที่จำเป็นต้องใช้เส้นทาง ไม่สามารถสัญจรหรือเดินทางใช้เส้นทางสาธารณะได้อย่างปกติสุข รวมทั้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในขณะที่โจทก์และประชาชนรวมตัวกันเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมในครั้งนี้ในระหว่างการทำกิจกรรมเดินขบวนจากบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็มีการใช้รั้วลวดหนาม แผงเหล็ก ปิดกั้นเส้นทางสาธารณะหลายเส้นทาง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ล้วนเป็นการจงใจใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นมิให้โจท์ทั้งสามและประชาชนใช้เสรีภาพในการเดินทาง อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงการนำอุปกรณ์สิ่งของมากีดขวางอันมิใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาปิดกั้นการใช้เสรีภาพของโจทก์และประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการปิดกั้นเส้นทางโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้อุปกรณ์สิ่งกีดขวางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน แสดงถึงเจตนาที่จะกระทำการจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นในอนาคตตามอำเภอใจ

ทั้งนี้ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งจึงได้มีการยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้ข้อกำหนด และประกาศ คำสั่งใดที่ห้ามการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่รัฐกีดขวางและนำอุปกรณ์สิ่งของ เช่น รั้วลวดหนาม ตู้คอนเทนเนอร์ มากีดขวางปิดกั้นการเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้