“จาตุรนต์” ชี้ ไม่ให้ประกันตัว “ตะวัน-เก็ท” ทั้งที่ยังไม่ตัดสินความผิด ไม่ถูกต้องและเลือกปฏิบัติ

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 จาตุรนต์์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณี การอดอาหารประท้วงนานหลายวันของ ทานตะวัน “ตะวัน” ตัวตุลานนท์ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง และโสภณ ‘เก็ท’ สุรฤทธิ์ธํารง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เนื่องจากการไม่ให้ได้รับการประกันตัว และถูกคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดีจากข้อหามาตรา 112 กรณีเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า

การเลือกปฏิบัติทางคดีอาญากรณี “ตะวัน” : กฎหมายเมื่อบังคับใช้ ต้องยุติธรรมและมีมนุษยธรรม

ผมเคยแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินคดีความมั่นคงโดยเฉพาะคดีที่เกิดจากการมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐมาหลายครั้งว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในขั้นตอนต่างๆในหลายคดี ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผมเคยเสนอว่าจะต้องมีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำผิดกฎหมายเสียเองและเพื่อคุ้มครองผู้ที่ถูกดำเนินคดีให้ได้รับความยุติธรรมกว่าที่เป็นอยู่ ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างอยู่บ้าง ที่เห็นต่างคือเขาเห็นว่ากฎหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่างหาก ผมก็ยังเห็นว่าในเมื่อยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เนืองๆเช่นนี้ ก็ควรจะสังคายนาทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและการบังคับใช้กฎหมายนี้กันเสียที

แต่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆในเร็วๆนี้

ผมติดตามข่าวคราวเรื่องของน้องตะวัน นักศึกษาวัย 20 ปี ที่ถูกคุมขังมา 35 วันโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทราบว่าน้องตะวันอดอาหารประท้วง ไม่ใช่เพื่อให้ได้รับการประกันตัว แต่เพื่อเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมในบ้านเมือง มีเพื่อนผมหลายคนไปร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้น้องตะวันได้รับการประกันตัวเล่าให้ฟังว่าน้องตะวันจะต้องไปสอบ ถ้าไม่ไปสอบก็อาจขาดจากการเป็นนักศึกษาไปเลย และขณะนี้สุขภาพก็แย่ลงมาก ทุกคนก็เป็นห่วงกันมาก

ผมฟังเพื่อนๆประมวลเรื่องราวแล้วก็รู้สึกว่าผมควรจะได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ถึงแม้อาจจะไม่ต่างอะไรจากที่เคยแสดงความเห็นมาก่อนหน้านี้ แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง

การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาต้องมีเหตุคือเชื่อว่าจะหลบหนีหรือปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วยเหตุผลว่าสอบสวนยังไม่เสร็จนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะก็เห็นมีคดีอีกมากมายให้ประกันตัวไปทั้งที่ยังไม่เริ่มสอบสวนใครเลย

ส่วนการอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ตองหาไปกระทำความผิดซ้ำก็ไม่อยู่ในหลักกฎหมาย โดยเฉพาะการตั้งข้อหาที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็น ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างนั้นผิดกฎหมายจริงหรือไม่ จะปฏิบัติกับเขาเหมือนผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดแล้วไม่ได้

บุคคลจะได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดกฎหมาย หากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อเขาอย่างผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดกฎหมายแล้วไม่ได้ เรื่องนี้เป็นหลักสากลอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

แต่จะว่าไปแล้วความเห็นแบบนี้ก็เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นความรู้ทั่วไปเสียแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีวิธีที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

มาถึงขั้นนี้ก็คงต้องยกเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดมาพูดกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้จะนึกบ้างหรือไม่ว่าการที่เด็กที่มีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าสิ่งที่เขาพูดเขาทำเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต้องมาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ กำลังแสดงให้เห็นว่าระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอยู่ไร้มนุษยธรรมและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง

ช่วยกันทำให้เกิดความถูกต้องเถอะครับ